freebird
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
พื้นที่ ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา มีอยู่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประเมินกันว่ามีขุมทรัพย์มูลค่ามโหฬาร นั่นคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ราวๆ 5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร กลายเป็นปมปัญหามานานแล้ว นับตั้งแต่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีป เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 ก็ว่าได้ เนื่องจากฝ่ายไทยไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าว มีผลทำให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายเปิดเจรจาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2-5 ธันวาคม 2513 ที่กรุงพนมเปญ แต่ไม่มีข้อสรุปใด
จนกระทั่งในปี 2537-2538 ทั้งสองฝ่ายเปิดเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน นำไปสู่การจัดทำข้อตกลงชั่วคราว (Provisional Arrangment) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี พ.ศ.2525 แต่เป็นเพียงการตกลงตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคไทย-กัมพูชาเพื่อศึกษาปัญหา ร่วมกัน และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2538 ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิในไหล่ทวีป
ใน ปี 2543 ความพยายามเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เริ่มเห็นลู่ทางสดใส เมื่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ควรเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ระหว่างไทยกัมพูชา มีขึ้นที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2544 นำไปสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Memorandum of Understanding between the Royal Thai Government and the Royal Government of Cambodia regarding the Area of their Overlapping Maritime Claims to the Continental Shelf) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544
นายสุรเกียรติ์ เขียนในหนังสือเล่มดังกล่าว ระบุว่า เอ็มโอยู ฉบับนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยในหลายประการ
1.การ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค มีอำนาจหน้าที่เจรจาเพื่อยกร่างความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจขุดเจาะทรัพยากร ธรรมชาติ (น้ำมันและก๊าซ) ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วม และยกร่างความตกลงเกี่ยวกับการปักปันเส้นเขตทะเล ทั้งนี้ การมีคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิคจะทำให้ฝ่ายไทยทราบถึงจุดยืนต่างๆ ของฝ่ายกัมพูชาอย่างชัดเจน ทั้งด้านกฎหมายและการแบ่งผลประโยชน์เหนือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อจะให้ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยทุกหน่วยงานร่วมกันวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึง แนวทางร่วมมือระหว่างกันอย่างเหมาะสม
2.เอ็ม โอยู ปี 2544 ช่วยกันลดความสุ่มเสี่ยงด้านความขัดแย้งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และลดผลกระทบด้านสัมพันธภาพระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสันติวิธี
3.บันทึก ความเข้าใจฯแม้ยังไม่มีผลผูกพันทั้งสองประเทศเกี่ยวกับเส้นเขตทางทะเล แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ถือเป็นหลักแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกัมพูชายอมรับอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ไทยมีอธิปไตยเหนือเกาะกูดและยังยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือทะเลอาณาเขตรอบๆ เกาะกูดอีกด้วย
4.เอ็ม โอยูฉบับนี้ยังมีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา พ.ศ.2512 และนับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่สามารถเจรจาให้รัฐบาลกัมพูชายอมรับ อย่างเป็นทางการ และเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก
5.เอ็ม โอยูปี 2544 ยังนำไปสู่การเจรจาแนวทางการพัฒนาร่วมกันและการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากร ปิโตรเลียมเหนือพื้นที่พัฒนาร่วม หากเจรจาได้ข้อยุติโดยเร็ว ฝ่ายไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากไทยมีความต้องการด้านพลังงานและปริมาณพลังงานสำรอง อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านการลงทุนการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม มีบริษัทสำรวจและผลิตเป็นของตนเองอีกด้วย
นั่นเป็นที่มาที่ไปและข้อดีของเอ็มโอยู ปี 2544 ที่นายสุรเกียรติ์ บันทึกไว้
แต่ กระนั้น เมื่อเกิดรัฐประหาร รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นอำนาจในปี 2549 สถานการณ์ไทย-กัมพูชา เปลี่ยนไปจนกระทั่งมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ประกาศยกเลิกเอ็มโอยูปี 2544 อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัว ของสมเด็จฯฮุน เซน
นายสุรเกียรติ์ระบุไว้ว่า หากรัฐบาลไทยบอกเลิกเอ็มโอยูปี 2544 มีผลสมบูรณ์ทั้งทางกฎหมายภายในและระหว่างประเทศแล้ว จะมีผลเท่ากับเป็นการทำลายผลประโยชน์ที่ประเทศไทยควรจะได้รับในพื้นที่ทับ ซ้อนทางทะเลอ่าวไทย
++++++++++++++++++++++++++++++++++
เปิดบันทึกความเข้าใจ
พื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย
หมาย เหตุ - บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักร กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ลงนามโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายซก อาน รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา
รัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (ต่อไปนี้เรียกว่า ภาคีผู้ทำสัญญา) ปรารถนาที่จะกระชับความผูกพันแห่งมิตรภาพซึ่งมีมาช้านานระหว่างประเทศทั้ง สองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ตระหนักว่าจากผลของการอ้างสิทธิของประเทศ ทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทย ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน)
พิจารณา ว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศทั้งสองที่จะตกลงกันบนพื้นฐานที่ยอมรับได้ ร่วมกันโดยเร็ว สำหรับการแสวงประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนโดยเร็ว ที่สุดที่จะเป็นไปได้ และรับทราบความเข้าใจซึ่งบรรลุร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของ ประเทศทั้งสองดังปรากฏในบันทึกการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ชะอำ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2543 และที่เสียมราฐ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2544 ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
1.ภาคีผู้ทำสัญญาพิจารณาว่า เป็นที่พึ่งปรารถนาที่จะทำข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้ในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน
2.เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน
(ก) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ
(ข) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขต เศรษฐกิจ จำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้ายเป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือ ปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้
3.เพื่อ วัตถุประสงค์ตามข้อ 2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประเทศไทยและ ประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากแต่ละประเทศแยกต่างหากจากกัน คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคมีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการกำหนด
(ก) เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม รวมถึงพื้นฐานซึ่งยอมรับร่วมกันในการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการ แสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และ
(ข) การแบ่งเขต ทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างเขตที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้อง แบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งใช้บังคับ
4.คณะกรรมการร่วม ด้านเทคนิคจะประชุมกันโดยสม่ำเสมอเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เสร็จสิ้น โดยเร็ว คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคอาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นว่าเหมาะสม
5.ภาย ใต้เงื่อนไขการมีผลใช้บังคับการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้ และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น