แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 5: สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง (2)

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 5: สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง (2)

 ที่มา: ไทยพับลิก้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

ในตอนที่4 ได้วิเคราะห์ข้อผิด ข้อพลาด ต้นทุน ผลกระทบทางลบ ที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy)”

ในตอนที่5 วิเคราะห์”ระบอบทักษิณ”คืออะไร…มีจริงหรือไม่…พัฒนามาอย่างไร

คุณนพดล ปัทมะ นักกฎหมายทุนอานันท์ฯ ที่ได้เนติบัณฑิตอังกฤษ บอกว่า “ระบอบทักษิณ” ไม่มีจริง…ถ้าอย่างนั้น “มวลมหาประชาชน” ก็คงกำลังต่อสู้อยู่กับลม กับเงา กับ Image Illusion อยู่น่ะสิครับ
อ.เกษียร เตชะพีระ เคยให้นิยาม “ระบอบทักษิณ” ว่าเป็น “อาญาสิทธิ์ทุนนิยมจากการเลือกตั้ง” ( Elected Capitalist Absolutism) และมีนิยามอื่นๆ อีกมาก ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมประชาธิปไตยไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีพรรคการเมือง (ที่ไม่อิงกับอำนาจเผด็จการ) ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเด็ดขาด กำหนดนโยบายได้เต็มที่ และที่สำคัญ เป็นพรรคที่มีคนคนเดียว กุมอำนาจอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ และอันว่าอำนาจนั้น ย่อมเหมือนกันหมด เมื่อมีมากเกินไปไม่มีการถ่วงดุล ย่อมนำไปสู่การใช้จนเกินเลยได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะตั้งใจดีเพียงใด

สำหรับผม “ระบอบทักษิณ” เป็นแค่วิธีการ เป็นแค่กระบวนการ ที่คุณทักษิณใช้ในการบริหารประเทศ ในการบริหารการเมือง และไม่ได้มีระบอบ ไม่มีทฤษฎีที่ตายตัว ไม่มีแม้แต่ปรัชญาที่เป็นแก่นเสียด้วยซ้ำ ทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ตามสภาพสิ่งแวดล้อม ตามอำนาจต่อรองของฝ่ายต่างๆ ตลอดจนตามพลวัตรของโลก

แกนหลักของ “กลไกทักษิณ” ก็ผูกโยงอยู่กับ อำนาจ-การได้มาซึ่งอำนาจ-พรรคพวกนิยม-การกระจายรายได้สู่รากหญ้า-การชนะ เลือกตั้ง-อำนาจ วนเวียนอยู่อย่างนี้ โดยเจตนาดีที่อาจมีก็คือ ใช้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์เข้ามากระตุ้น หวังให้เกิดความเจริญพัฒนาของประเทศตามนิยามสากล

ผมจะลองไล่ที่มา และพัฒนาการของสิ่งที่ผมจะขอเรียกว่า “กลไกแบบทักษิณ” ตามความเข้าใจของผมนะครับ

พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นนักธุรกิจที่ประสพความสำเร็จสูงมาก ความจริงท่านก่อร่างสร้างตัวมาจากระบบ “พรรคพวกนิยม” ล้วนๆ คือเริ่มต้นจาก บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ซึ่ง เป็นตัวกลางขาย IBM ให้กับหน่วยงานรัฐ (IBM ไม่ขายตรงให้รัฐ ต้องมีคนกลางมาประสานงาน จัดการตรงกลาง…ไม่รู้เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐพูดปะกิดไม่ได้หรือไร) ต่อมาก็เริ่มได้สัมปทาน เช่น เพจเจอร์ติดตามตัวก่อน ตามมาด้วยโทรมือถือ เคเบิลทีวี (จากน้าเหลิม) ดาวเทียม สายการบิน ฯลฯ จะเห็นได้ว่า ธุรกิจหลักที่สำเร็จยิ่งยวดจะมาจากสองปัจจัย คือ เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ สัมปทานรัฐ ใบอนุญาตพิเศษจากรัฐ (ซึ่งก็คือการซื้อ การเช่า Monopoly หรือ Oligopoly นั่นเอง) กับมักจะเป็นเรื่องก้าวหน้า เป็นเรื่องวิสัยทัศน์อนาคต เป็นของใหม่ เทคโนโลยีใหม่สำหรับไทย (ข้อนี้เป็นคุณสมบัติดีของคุณทักษิณ ซึ่งภายหลังก็ได้นำมาใช้ในทางการเมืองเยอะ กล้าคิด กล้าทำ กล้า create สิ่งใหม่)

ที่มาภาพ :http://i.telegraph.co.uk
ที่มาภาพ :http://i.telegraph.co.uk

ถึงแม้ธุรกิจทุกอย่างจะเป็นเรื่องสัมปทาน เป็นเรื่อง “พรรคพวกนิยม” แต่คุณทักษิณ ไม่ได้แค่่ใช้ความได้เปรียบที่ซื้อหามาเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ องค์กรธุรกิจของท่านทุกอันมีการบริหารสมัยใหม่ มีการพัฒนาคุณภาพตลอดเวลา ถือว่าเป็นองค์กรมาตรฐานสากล เทียบชั้นโลกาภิวัตน์ได้ทีเดียว พอนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2533 ก็นับเป็นมหาเศรษฐีไทยคนหนึ่งตลอดมา
คุณทักษิณเริ่มเข้าสู่การเมืองในปี 2537 โดยเป็น รมต.ต่างประเทศ สังกัดพรรคพลังธรรม ในสมัยรัฐบาลชวน 1 (ชวน หลีกภัย) แล้วก็มาเป็นรองนายกฯ สมัยคุณบรรหาร ศิลปอาชา กับมาเป็นรองนายกฯ ช่วงสั้นๆ ท้ายสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540

ผมเดาว่า แรกเริ่ม คุณทักษิณอาจแค่ต้องการทำการเมือง เพื่อพิทักษ์ เพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจ เพราะทุกอย่างที่ต้องอาศัยอำนาจรัฐย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องต่อรองกับการเมือง การเข้ากุมอำนาจรัฐเสียเอง ย่อมทำให้ปลอดภัยไร้กังวล

ในช่วงที่เข้าเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต หลังวิกฤติ (15 ส.ค. – 6 พ.ย. 2540) ผมได้มีโอกาสเจอ คุณทักษิณบ่นมาก ค่อนข้างหงุดหงิดกับวิธีแก้ปัญหาที่เชื่องช้า ไม่มียุทธศาสตร์ ท่านบ่นกับผมว่า “ถ้าให้ผมแก้ ใช้วิธี CEO พักเดียวก็จะดีขึ้นได้” ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ชวลิตลาออก รัฐบาลชวน 2 เข้ามาแก้ปัญหา รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลใช้บังคับ พอกลางปี 2541 คุณทักษิณก็ตั้งพรรค “ไทยรักไทย” เพื่อเตรียมลงเลือกตั้ง

เคยมีผู้ใหญ่ที่ร่วมก่อตั้งพรรคเล่าให้ฟังว่า ตอนเริ่มต้น คุณทักษิณตั้งใจจะตั้ง “พรรคการเมืองคุณภาพ” โดยใช้พื้นฐาน”พรรคพลังธรรม” ที่ได้รับมรดกจากมหาจำลอง (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง) ร่วมกับคณะ “คนดี” ที่เคยยอมเสียสละเข้าป่าเพื่อพัฒนาชาติไทย (หลายท่านยังช่วยอยู่จนทุกวันนี้) แต่หลังจากประเมินดูแล้ว ทำอย่างนั้นคงไม่มีโอกาสได้บริหารประเทศแน่ หรือไม่ก็ต้องใช้เวลานานมาก ก็เลยเปลี่ยนวิธี หันไปใช้กลยุทธของท่าน เติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ว่า “แมวขาว แมวดำ ไม่เป็นไร เอาไว้ก่อน เอาไว้จับหนู เสร็จแล้วค่อยคัดพันธุ์ ค่อยๆ กลายให้ขาวทีหลัง” (การกลายกลับเป็นว่า แมวขาวตายเกือบเกลี้ยง)
จะสังเกตได้ว่า ครม. ชุดแรกๆ ยังมีสมาชิกที่สังคมชื่นชมว่า “เป็นคนดี” อยู่ไม่น้อย แต่หลายท่านก็ค่อยๆ ทยอยจากไป เช่น ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย, รตอ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์, ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ฯลฯ คุณทักษิณเองก็เคยบ่นว่า พวกคนดีมักเปราะ นิดหน่อยก็ไม่อดทน สู้นักการเมืองอาชีพไม่ได้ อดทนได้ทุกอย่าง จะย้าย จะลดตำแหน่ง ลดบทบาท ก็ยังทนได้เสมอ อันนี้ตรงกับสุภาษิตจีนโบราณที่ว่า “พอมีอำนาจ คนดีมักจะถอยห่าง คนชั่วเข้าประชิด เพื่อเกาะกินอำนาจอันหอมหวานนั้น”

 ที่มาภาพ : http://thaingo.org/ 
ที่มาภาพ : http://thaingo.org/


ช่วงปี 2542-2543 พรรคไทยรักไทยสามารถรวบรวม ส.ส. แชมป์เก่า จากพรรคต่างๆ ได้ถึงกว่า 130 คน พอเลือกตั้งต้นปี 2544 เลยชนะถล่มทลาย ได้ ส.ส. ถึง 256 คน แถมตั้งรัฐบาล 324 เสียง ฝ่ายค้านพิการ อภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่ได้เลย

พอเป็นรัฐบาล คุณทักษิณก็ใช้ฝีมือในการบริหาร มีการกระจายทรัพยากรได้ดี ประชานิยมที่ดี ที่เฉยๆ และที่ห่วย ระดม ทยอยกันออกมา มีฝีมือ ขยายระบบนอกงบประมาณ ทำให้เงินสะพัด แปรรูป ปตท. ตลาดทุนเลยคึก เศรษฐียาจก happy ถ้วนหน้า ความหวังเบ่งบานทั้งสังคม (รายละเอียดอธิบายในตอนก่อนๆ แล้วครับ)

หลังครบสี่ปี เลือกตั้งใหม่ 2548 “ไทยรักไทย” ยิ่งชนะถล่มทะลาย ได้ ส.ส. 376 คน (ปชป. ได้แค่ 96) แม้ในกรุงเทพฯ ยังกวาดเกือบเกลี้ยง เลยตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด โดนประท้วงมากในเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องรวบอำนาจ เรื่องทำลายองค์กรอิสระ รวมไปถึงความไม่จงรักภักดี แล้วเลยต้องยุบสภา พอเลือกตั้ง เม.ย. 2549 เลยถูกบอยคอต ไม่มีใครลงสมัคร แล้วก็เลยเป็นโมฆะ แก้เกมไม่ทันเสร็จ 19 กันยายน 2549 ก็ถูกปฏิวัติ แล้วก็เลยโดนคดีเป็นพรวน ถึงแม้พรรคที่ตั้งใหม่ยังชนะเลือกตั้งได้ทุกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ราบรื่น จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับรู้ทั่วไป ผมนำมาเรียบเรียงใหม่เพียงเพื่อประกอบการวิเคราะห์ พัฒนาการของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งผมจะขอยกยอดไปเริ่มในตอนต่อไปนะครับ

  ....................................

 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 4): สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง (1)

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 6) เจาะวิเคราะห์"ระบอบทักษิณ" ...ข้อดี..ข้อด้อย..จุดรุ่งเรือง..จุดเสื่อมถอย..จุดตกต่ำ

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน