แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 4): สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง (1)

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 4): สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมมีพลั้ง (1)

ที่มา: ไทยพับลิก้า

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

วิเคราะห์ข้อผิด ข้อพลาด ต้นทุน ผลกระทบทางลบ ที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy)” ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผมคิดหนักก่อนที่จะเขียนบทความนี้ ในตอนที่1 ผมก็ได้เกริ่นไว้ว่า “น่าจะขาดทุนเป็นแน่” ผิดวิสัยนักธุรกิจ ที่ทำอะไรต้องคำนวณผลได้ผลเสียที่จะตกแก่ตน

ความจริงผมและพรรคพวกที่ “ภัทร” เป็นมิตรกับทุกคนทุกฝ่ายมาตลอด ผมเป็นมิตรกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคณะมานาน เพราะเราได้โอกาสให้บริการทางธุรกิจมาตั้งแต่กว่า 25 ปีก่อน พอๆ กับที่เป็นมิตรกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณกรณ์ จาติกวณิชย์ และคณะ

พวกเราไม่มีฝักมีฝ่าย เราพยายามสร้างประโยชน์ตลอดมา เราถือคติที่ว่า “ใครก็ตาม ถ้าจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เราเห็นด้วย และมีศักยภาพที่จะช่วยได้ เราจะรับใช้ทั้งนั้น” เรา ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าโดยรวม คนคนนั้น คณะนั้นๆ เป็นคนดีหรือไม่ ขอให้สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่เรามั่นใจว่าดี เป็นประโยชน์ชาติ เราถือคติว่า “เราอาจจะเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ทั้งหมด แต่เราทำให้มันดีขึ้นได้” ถ้า เป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจหรือตลาดทุน เรารับใช้รับงานมาทุกรัฐบาล ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับค่าจ้าง และเราก็มั่นใจว่า เราได้งานด้วยความสามารถ ไม่ใช่ด้วยเส้นสาย งานที่เราทำมีประโยชน์ต่อชาติ และที่สำคัญ เราไม่เคยต้อง “ทอนเงิน” ให้ใครเลยสักบาท

ที่เกริ่นมายืดยาว ไม่ใช่ว่าจะกลัวอำนาจ หรือกลัวผู้มีอำนาจ แต่เนื่องด้วยเราทำตัวเป็น “กัลยาณมิตร” กับทุกฝ่ายตลอดมา เมื่อใดที่เราคิดว่ามีข้อบกพร่อง มีข้อกังวล เกี่ยวกับนโยบายใด เราจะเข้าไปเตือน ไปแสดงความคิดเห็นโดยตรง (และแน่นอน ที่ไม่มีใครเชื่อ หรือทำตามเราทุกครั้ง…หลายครั้ง แม้จะเห็นด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดอื่นๆ ที่ทำให้ทำไม่ได้ คนทำกับคนแค่พูด…มันไม่เหมือนกันครับ) เราไม่ได้เอาแต่ประจบสอพลอ ไม่ได้เข้าไปเยินยอใดๆ แต่เรามักไม่มาวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะนอกจากเหลืออดจริงๆ (เช่น จ.น.ข.)

ที่ครั้งนี้ ผมต้องมานั่งวิเคราะห์อย่างค่อนข้างเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็เป็นเพราะ ผม คิดว่าอาจเป็นประโยชน์ ให้ผู้ที่แตกแยกทั้งสองฝ่าย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้สาธารณะ เข้าใจถึงรากแก่นของปัญหา เผื่อจะช่วยบรรเทาความโกรธเกรี้ยวเข้าใส่กัน และนำไปสู่ “ทางออกประเทศไทย” ในที่สุด (ก็หวังเพ้อเจ้อไปก่อนน่ะ)

ที่ต้องมีการออกตัวยืดยาวนี้ เพราะผมกลัวว่าจะเป็นเรื่องเสียมารยาทที่มาวิจารณ์ “มิตร” ในที่แจ้งเท่านั้นครับ ไม่ใช่กลัวภัยอื่น ถ้าล่วงเกินก็ต้องขอโทษมิตรทั้งหลายด้วยนะครับ
ขอเข้าเรื่องเสียที เลียบค่ายอยู่ตั้งนาน…

ในตอนที่ 2 กับ ตอนที่ 3 ผมพยายามอธิบายสิ่งที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะ “ชาวรากหญ้า” ชื่นชมได้ประโยชน์ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในตอนนี้จะพยายามอธิบายถึงอีกกลุ่มหนึ่งที่เกลียดชัง “ระบอบทักษิณ” บ้าง โดยจะแยกเป็นข้อๆ นะครับ

1. เป็นเรื่องการกระจายรายได้อีกแหละครับ คือ ในด้านของ Income Side ของ GDP ซึ่งประกอบด้วย เงินเดือนค่าจ้าง (wages) ดอกเบี้ย (interest) ค่าเช่า (rental) กำไรบริษัท (corporate profit ) และ กำไรรายได้ผู้ประกอบการย่อยซึ่งรวมนอกระบบด้วย (Proprietor’s Income)

อย่างที่บอกแล้ว ในช่วงหลังวิกฤติ เกษตรกรดีขึ้น คนทำงานทักษะสูงดีขึ้น ข้าราชการ ครู ดีขึ้น แต่ที่ดีมากที่สุดคือ ธุรกิจเอกชน corporate profit เฉลี่ยเติบโตกว่า 20% ต่อปีตลอดมาหลังวิกฤติ จนทำให้สัดส่วนสูงขึ้นมาก จากไม่ถึง 20% ของ GDP เป็นกว่า 30% และแน่นอน ย่อมกินส่วนจากภาคส่วนอื่นๆ ไม่น้อย (ส่วนนี้ตกเป็นของคนจำนวนไม่เกิน 1% ของประชากร กับพวกนักลงทุนต่างชาติ) แต่ถ้าไปดูรายละเอียดจะพบว่า พวกที่กำไรเพิ่มมากจะเป็นบรรษัทใหญ่ๆ บรรษัทต่างชาติ บรรษัทที่มีการคุ้มครอง เช่น ได้สัมปทาน พวกสถาบันการเงิน ฯลฯ พวกที่ทำธุรกิจ Non-tradables (เพราะกระตุ้นการบริโภค) กับพวกที่เข้าถึงระบบ “พรรคพวกนิยม” ของผู้มีอำนาจ ส่วนพวกอื่นๆ โดยเฉพาะพวกที่ทำ Tradables ช่วงแรกดีเพราะค่าเงินอ่อน แต่ต่อมาค่าเงินแข็งขึ้น การปรับปรุงผลิตภาพ (TFP) มีไม่พอ ค่อนข้างลำบากกันทั่ว โดยเฉพาะมาขึ้นค่าแรงพรวดพราด เจ๊งระนาว

ไม่มีอะไรหล่นลงมาจากฟ้า…เศรษฐกิจรวมโตแค่ 5% เลยมีคนได้และมีคนเสีย ที่เสียแน่คือพวกที่มีรายได้จากเงินออม เพราะดอกเบี้ยและค่าเช่าต่ำเตี้ย ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบด้วยซ้ำ (เงินเฟ้อสูงกว่า) สำหรับคนทำงานทักษะกลางๆ (พวกชั้นกลางระดับล่าง) พวกนี้ไม่ดีขึ้น ทรงตัวหรือแย่ลง 

ความจริงพวกแรงงานทักษะต่ำและนอกระบบ ดีขึ้นระยะต้นเท่านั้น รายได้แท้จริงไม่เพิ่มเท่าไหร่ เพราะผลิตภาพไม่ได้เพิ่ม แต่ที่รู้สึกดี เพราะการเกื้อหนุนจากครอบครัวเกษตร และจากประชานิยม อย่างตอนหลังปฏิวัติ 2549 รัฐบาลสุรยุทธ์ดันปิดก๊อกประชานิยม แถมราคาสินค้าเกษตรไม่ดี คนกลุ่มนี้เลยยิ่งคิดถึง “ท่านทักษิณ” เข้าไปใหญ่ พอเลือกตั้ง ก็อย่างที่เห็นแหละครับ ขนาดหาเสียงอยู่ดูไบ พรรคพลังประชาชนยังชนะถล่มทลาย

(การวิเคราะห์ในข้อนี้ หลายส่วนมาจากการสังเกตคาดคะเนนะครับ หวังว่าจะมีการศึกษาต่อ การวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในไทยยังต้องทำอีกเยอะ อย่างงานศึกษาของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล จาก MIT ที่เสนอใน BOT Symposium ก็น่าขยายผลลงลึกไปอีก)

2. เรื่องของ “พรรคพวกนิยม” แบบไทยๆ …เราเป็นระบบ “ทุนนิยมพรรคพวก” (Crony Capitalism) มาแต่ไหนแต่ไร และก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง จากระบบเจ้านายกับขุนนาง มาเป็นพรรคพวกคณะราษฎร มาเป็นพวกเผด็จการ กึ่งเผด็จการ จนมาเป็นพรรคพวกแบบนักการเมืองอาชีพแบบ Buffet Cabinet จนมาเป็นระบบอาญาสิทธิ์ทุนนิยม (Elected Capitalist Absolutism)ในปัจจุบัน ตามนิยามของ อ.เกษียร เตชะพีระ หรือก็คือ “ระบอบทักษิณ” (Thaksinocracy)

ลองมาดูพัฒนาการของ “พรรคพวกนิยมไทย” ใน 25 ปีหลังบ้าง ก่อนหน้านั้น เราเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ อำนาจยังอยู่ในมือขุนศึก ที่ให้เทคโนเครตบริหารเศรษฐกิจ (ถ้าสังเกตให้ดี เมื่อยี่สิบปีก่อน ธนาคาร บรรษัทใหญ่ๆ รัฐวิสาหกิจสำคัญ จะต้องมีประธาน มีกรรมการติดยศพลเอกนั่งอยู่แทบทุกแห่ง) รัฐบาลผสมนั้นมักจะสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ไปมา ไม่มีใครได้คุมอะไรถาวร

พอมาปี 2531 ป๋าเปรม(พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)วางมือ น้าชาติ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นนายกฯ (ความจริงท่านเลิกเป็นทหารมานานแล้ว ยศสุดท้ายพลจัตวาเอง มาเป็นนักการเมืองอาชีพ แต่พอเป็นใหญ่พวกสอพลอก็ขอยศให้) ท่านเลิกใช้พวกเทคโนแครต คุณประมวล สภาวสุ เป็นนักการเมืองอาชีพคนแรกที่เป็น รมต.คลัง ต่อด้วยคุณบรรหาร ศิลปอาชา นักการเมืองเข้าคุมสมบูรณ์ขึ้น แต่ยังไงก็เป็นรัฐบาลผสม ต่อรองย้ายแยกกันคุมกระทรวงสำคัญผลัดกันไปมา เป็นอย่างนี้ 12 ปี เรียกได้ว่าเป็นระบบ Buffet Cabinet ถึงจะมีท่านอานันท์มาสลับสองช่วงสั้นๆ ก็เป็นแค่พักยก กินของหวานกาแฟ ไม่มีการเปลี่ยนด้านโครงสร้างมากนัก

ด้านนักธุรกิจ โดยเฉพาะพวกที่ค้าขายกับรัฐ รัฐวิสาหกิจ และพวกที่ต้องใช้อำนาจรัฐ (เช่น ที่ต้องใช้สัมปทาน ใช้ใบอนุญาตต่างๆ ) ก็ต้องปรับตัวพัฒนาตามการเปลี่ยนลักษณะอำนาจและขั้วอำนาจ เมื่อห้าสิบปีก่อน การลงทุนต่างๆ จะเกิดกับผู้ที่ใกล้ชิดเผด็จการ และผู้ที่เข้าถึงอำนาจเงิน ซึ่งก็คือนายธนาคารเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนปี 2530 การลงทุนใหญ่ๆ ทำได้อยู่ไม่กี่ตระกูล หรือไม่ก็ต้องรอฝรั่ง รอญี่ปุ่น รอ FDI (Foreign Direct Investment)

พอมาเป็นระบบ Buffet Cabinet ข้อดีก็คือ “ระบบพรรคพวก” ไม่ถูกผูกขาดอีกต่อไป มีพ่อค้านักธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่เข้าถึงอำนาจรัฐ อำนาจรัฐหาซื้อได้ง่ายขึ้น ประกอบกับตลาดทุนคึกคัก บริษัทเงินทุนก็เติบโต ไม่ต้องพึ่งแต่เงินนายแบงก์ที่มีไม่กี่แห่งอีกต่อไป ช่วงสิบปีก่อนเกิดวิกฤติ มีการลงทุนโดยนักธุรกิจใหม่ๆ เยอะ ทุกหน่วยราชการเร่งออกสัมปทาน เช่น โทรคมนาคม (ที่มีคุณทักษิณเป็นเจ้าใหญ่สุด) คุณเฉลิม อยู่บำรุง ได้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ดูแล อสมท. ก็ออกสัมปทานเคเบิลทีวี (ก็ได้คุณทักษิณอีกแหละ) ทั้ง ทศท. กสท. ก็เร่งใหญ่ออกใบ monopoly ไปแบ่งขายกันเบิกบาน (จนตอนหลังตัวเองเจ๊ง เพราะห่วยเกินจะแข่ง) ส่วนรัฐวิสาหกิจทั้งหลายก็ขยายตัวกันสุดชีวิต เพราะเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าปีละ 10% ต้องขยายสาธารณูปโภครองรับ พ่อค้าทั้งหลายก็ happy เข้าช่องเข้าหาศูนย์อำนาจที่ดูแล ซื้อใบเบิกทาง เป็นที่สำราญเบ่งบาน

พอคึกคะนองมากๆ หาเงินได้ง่าย ลงทุนเกินตัว ก็เลยมี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 วุ่นวายแก้ไขกันอยู่พักใหญ่ จนเลือกตั้งต้นปี 2544 “ไทยรักไทย” ชนะขาด และอยู่ยืนกว่าห้าปี ด้วยความที่มีความเชี่ยวชาญการบริหาร ก็เลยมีการ organize ระบบพรรคพวกนิยมใหม่ ไม่ใช่ระบบ mini auction แบบแต่ก่อน เพราะทำอย่างนั้น ประโยชน์ที่เกิดมันไปตกกับพ่อค้ามากไป ไม่มีประสิทธิภาพพอ เลยกลายเป็นมีลักษณะสองอย่าง อย่างหนึ่งคือ เกิดมีระบบสมาชิกถาวรระยะยาวใหม่ (เพราะมีอำนาจต่อเนื่อง) และ เป็นระบบที่ systemic มากขึ้น ไม่มั่วซั่วเวลามีการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนคนเหมือนอย่างแต่ก่อน
ดร.ทักษิณเป็นคนที่เข้าใจระบบ “พรรคพวกนิยม” อย่างลึกซึ้ง เพราะเติบโตมาด้วยระบบนั้น และเป็นคนที่รักพรรค รักพวก สามารถบริหารจัดการนักการเมืองทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ แบบ ได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ (นักการเมืองล้วนเป็นสุดยอดมนุษย์กันทั้งนั้นครับ) และเป็นคนที่ใช้ระบบนี้ได้เก่งที่สุด

ปัญหามันคือ อันว่า “พรรคพวกนิยม” นั้น มีนิยามความหมายว่า “ใช้อำนาจช่วยให้พรรคพวกเราได้เปรียบเหนือคนที่ไม่ได้เป็นพวก” ซึ่งแน่นอนว่านานเข้าจะมีศัตรูมากกว่ามิตร เพราะถ้าทุกคนเป็นพวกก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ใดให้ได้ (จะไปเอาเปรียบใครล่ะครับ) หรือแม้มีมิตรมากกว่าศัตรู พรรคพวกก็จะได้ประโยชน์คนละน้อย ไม่หนำใจ ไม่คุ้มเป็นพวก จะให้ได้ประโยชน์มากต้องให้มีพวกน้อยราย และใช้อำนาจมากๆ เอาเปรียบคนอื่นๆ ให้แรงๆ พอทำอย่างนี้นานเข้า คนที่ถูกเอาเปรียบเลยมีจำนวนมากกว่าคนที่ได้เปรียบเยอะ พ่อค้าที่ทนไม่ไหว เลยมีมากกว่าพ่อค้าที่เทิดทูน (ก็เวลาช่วย พวกท่านก็ไม่ได้ให้เปล่านี่ครับ แถมราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ) ยิ่งข้าราชการ ยิ่งมีคนที่ถูกเอาเปรียบ ถูกข้ามอย่างไม่เป็นธรรม (เพราะถ้าเป็นธรรมก็ไม่ได้ใช้อำนาจช่วยใคร) เยอะแยะมาก แถมคนที่เป็นพวก หากจะได้รับเกื้อหนุน ส่วนใหญ่ก็ต้อง “จ่ายราคา” ด้วยกันทั้งนั้น

สรุปว่า “พรรคพวกนิยม” นั้น ในที่สุดก็สร้างศัตรูจำนวนมากกว่าสร้างมิตร เห็นจำนวนพ่อค้า จำนวนข้าราชการที่ไปเป็น “มวลมหาประชาชน” ไหมครับ

3. เรื่องของ “คอร์รัปชัน” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นของคู่กันกับ “พรรคพวกนิยม” การโกงไม่ได้เพิ่งเกิดเพิ่งมี มันน่าจะเริ่มตั้งแต่เรามีประเทศเลยก็ว่าได้ แต่รูปแบบ ความกว้าง ความรุนแรงมันพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และก็เช่นกันครับ พัฒนาการมันย่อมเป็นไปตามบริบทที่เปลี่ยนไป อย่างยุคแรกของการโกง ก็มักจะเอาจากทรัพย์สินจากภาษีรัฐโดยตรง หรือไม่ก็โกงจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ หรือไม่ก็ออกกฎออกระเบียบให้การบริการประชาชนไม่สะดวกไม่คล่องตัว เปิดให้มีการใช้ดุลพินิจ จนคนต้องจ่ายเงินหล่อลื่นเพื่อซื้อความสะดวก ต่อมาก็ไปช่วยเอกชนให้ไม่ต้องแข่งขัน (เช่น ล็อกเสป็กให้ จัดซื้อพิเศษ ฯลฯ) พอวิวัฒนาการมากขึ้นอีกก็เป็นเรื่องขายความได้เปรียบระยะยาว เช่น พวกสัมปทาน Monopoly หรือ Oligopoly ต่างๆ (หลายครั้งถูกเรียกว่า คอร์รัปชันทางนโยบาย)

ถ้าจะเอาให้แฟร์ ความจริงคอร์รัปชันมันมีวิวัฒนาการของมัน และเบ่งบานเพิ่มขึ้น นวัตกรรมมากขึ้นตลอดมา แม้ในยุคที่ คุณอภิสิทธิ์แห่ง ปชป. เป็นนายกฯ ก็ไม่เห็นจะลดลง (อาจจะโทษพรรคร่วม แต่เอ๊ะ เรื่องโรงพัก เรื่องถุงยังชีพ มันพรรคท่านเองนี่นา) แม้ยุค พล. อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ยังมีโกงกันไม่น้อย ถึงแม้คนใน ครม. ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวก็ตาม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คอร์รัปชันในยุคของระบอบทักษิณ ถือว่าเบ่งบาน เป็นปัญหาใหญ่หลวงขึ้นทุกที จนกระทั่งประเทศไทยถอยหลัง จากอันดับ 60 ของประเทศที่ดีที่สุดในปี 2000 มาเป็นอันดับ 102 ในปี 2013 ใน Corruption Perception Index ที่เพิ่งประกาศไปไม่กี่วันนี้ มันน่าเอาปี๊บคลุมหัวด้วยความอับอาย และพรรคของท่านก็บริหารประเทศถึงร่วมสิบปีในช่วงเวลานี้ ซึ่งถ้าพวกท่านไม่ทำเอง ก็ต้องโดนข้อหาว่าปล่อยให้มีการโกงกินมโหฬารในทุกด้าน และไม่เคยตั้งใจดำเนินการให้จริงจังได้ผลเลย ทั้งในด้านการปราบปราม และการป้องกัน

คอร์รัปชันทุกวันนี้ ลุกลามกว้างขวาง และพัฒนาการลึกซึ้งขึ้นทุกที เรียกว่าเป็น Systemic Corruption กันไปทั่ว บางอุตสาหกรรม เรียกได้ว่าเป็นระบบจนเรียกได้ว่าไม่เหลือธุรกิจดีอยู่เลยก็ว่าได้ เช่น การก่อสร้างภาครัฐ มีคนบอกว่า โครงการ IT ภาครัฐ ก็เป็นเช่นเดียวกัน แถมมีเปอร์เซ็นต์สูงลิ่วกว่าสามสิบทั้งนั้น ซึ่งผมยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เพราะระบบพวกนี้ต้องใช้ระบบหลักจากบริษัท IT ชั้นนำของอเมริกาทั้งนั้น ซึ่งเขามีกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act ซึ่งลงโทษรุนแรง ถึงแม้ร่วมมือเพียงเล็กน้อย (น่าเรียกร้องให้ Department of Justice ของไอ้กันมาสอบสวนดูนะครับ)

เมื่อก่อน เวลาเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมือง มักจะต้องลงไปรื้อไปโยกย้ายข้าราชการเพื่อให้ “เข้าขา” แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่ต้องเลยครับ ทุกอย่างเป็นระบบ มีวิธีการ มีกลไก มีนวัตกรรมไว้พร้อม ใครเข้ามาก็แค่กดสวิทช์แล้วรอรับ ยกตัวอย่าง ปลัดกระทรวงใหญ่แห่งหนึ่ง ขุนสร้างมาโดยท่านจากสุพรรณ แต่งตั้งโดยท่านจากบุรีรัมย์ เปลี่ยนขั้วไป ท่านจากดอนเมืองก็ยังใช้บริการ ความมาแตกเอาตอนโจรขึ้นบ้าน แล้วตู้เสื้อผ้าแตก โจรตกตะลึง บอกว่ามีเป็นพันล้าน ขนไม่ไหว (แต่ท่านบอกมีแค่สิบ โจรน่าจะโกหกเวอร์)
เรื่องคอร์รัปชันนี้ หนีไม่พ้นที่จะถูกโจมตีว่าเป็นจุดอ่อนใหญ่ของ “ระบอบทักษิณ” ถ้าจะบริหารประเทศต่อ มีทางเดียวต้องแก้จุดนี้ให้ได้ ต้องแสดงความจริงใจอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องเริ่มทำให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้

ความจริงยังมีเรื่อง มีเหตุการณ์อีกหลายอย่าง ที่ทำให้ความแตกแยกลุกลาม ต้องขอยกไปตอนหน้าอีกสักตอนนะครับ ผมอยากวิเคาะห์ทุกอย่างให้ละเอียด ก่อนที่จะเสนอแนวคิด ว่าเราควรจะเดินยังไงต่อไป

วันนี้ (เขียนเมื่อ 2 ธ.ค. 2556) เขียนยาวที่สุดเป็นประวัติการ พบกันตอนหน้าครับ
 .....................................................

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 3: สภาพสังคม-เศรษฐกินที่เปลี้ยนไป๋ 

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 5: สี่เท้ายังรู้พลาด คนฉลาดย่อมรู้พลั้ง (2)

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน