“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” (ตอนที่ 2) : ขวัญใจรากหญ้า
ที่มา: ไทยพับลิก้า
“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”
ในตอนแรก ผมได้ปูพื้นถึงความเหลื่อมล้ำ การเข้าเมือง (Urbanization) และความแตกต่างด้านการศึกษา สามมิติที่เป็นพื้นฐานความแตกต่าง ที่พัฒนาเป็นความแตกแยกในสังคมไทยในปัจจุบัน
จริงๆ แล้ว “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน การที่คนมีโอกาสต่างกันมหาศาล คนรวยก็รวยล้นเหลือโดยหาได้ง่ายๆ ในขณะที่คนจน ต่อให้ขยัน ทุ่มเทแค่ไหน ก็ยากที่จะมีโอกาสไต่ระดับฐานะ ถึงจะมีได้บ้าง ก็เป็นสัดส่วนต่ำ และมักต้องอาศัยเงื่อนไขเฉพาะ เช่น โชคดีสุดๆ หรือใช้วิชามาร ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย หรือไม่ก็อยู่ในเครือข่ายคอร์รัปชัน ในสังคมทุนนิยมที่ดีนั้น โอกาสจะต้องมี ถ้าคนทุ่มเท ตั้งใจ จะต้องได้โอกาส อย่างน้อยโอกาสที่จะได้รับบริการสาธารณะที่เท่าเทียม โอกาสที่จะได้ดูแลสุขภาพ ได้รับการศึกษาคุณภาพ ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียง ฯลฯ
ไม่น่าเป็นไปได้และไม่ควรจะเป็น ที่คน 12 ล้านคนแรก จะเก่งจะดีจะขยันกว่า จนกระทั่งสร้างผลผลิต ได้มากกว่า คน 12 ล้านคนข้างล่าง ถึง 13 เท่าตัวในหนึ่งปี (20% บน/20% ล่าง) อย่างในประเทศเรา มันเป็นเรื่องของความแตกต่างทางโอกาสล้วนๆ ในประเทศทุนนิยมที่พัฒนา ความแตกต่างนี้อยู่ที่ 3-5 เท่า เท่านั้นเอง
ในอดีต แม้ความเหลื่อมล้ำมีมาก แต่ที่ไม่ปะทุเป็นปัญหา ก็เกิดจากสาเหตุหลายประการ
1)ระบบสังคมอุปถัมภ์ แบบดั้งเดิม ทำให้ชาวชนบท ยอมรับความเป็น “เจ้าขุนมูลนาย” ยอมรับความ “เหนือ” กว่าของผู้ที่มีโชค “เกิดถูกครรภ์” โดยดุษณี ประกอบกับการศึกษาที่ไม่กว้าง และไม่ก้าว ทำให้คนยอมรับ “ชะตากรรม” ง่ายๆ
2)ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505-2540 เศรษฐกิจรวมเติบโตดีมาก (ภายใต้ระบบเผด็จการ และประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่พึ่งเทคโนแครตในการบริหารเศรษฐกิจ) ภายใต้แผนพัฒนาฉบับที่ 1-7 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี (nominal rate) ทำให้แม้ความเหลื่อมล้ำไม่ดีขึ้น แต่ทุกคนก็มีรายได้เพิ่มขึ้นดี (2541-2555 เศรษฐกิจโตเฉลี่ยต่ำกว่า 5%)
3)ความสำเร็จในการลดอัตราเร่งของจำนวนประชากร (คุมกำเนิด-เครดิตคุณมีชัย วีระไวทยะ) ช่วยลดแรงกดดันด้านการครองชีพ ให้กับผู้มีรายได้น้อย
4)การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปรับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมาก คนมีโอกาสที่จะเข้ามาทำงานในเมือง มีรายได้มากขึ้นกว่างานในไร่นามาก (แต่ในระยะหลัง ค่าแรงแท้จริงถูกกดไม่เพิ่มเลยถึง 15 ปี เพราะ Total Factor Productivity ไม่เพิ่ม)
ฯลฯ
แล้วไงล่ะ…แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) เข้ามาทำอะไร ชาวรากหญ้าถึงได้รักหนักหนา
ก็เกิดการลดความเหลื่อมล้ำอย่างมากในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ผมขอเริ่มด้วยสองเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำอะไร แต่ได้รับผลดีไปเต็มๆ
เรื่องแรก คือผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อฟื้นกลับมา สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ “การกระจายความมั่งคั่ง” (wealth distribution) เรารู้อยู่ว่า วิกฤติต้มยำกุ้งนั้น เป็นวิกฤติของคนรวย เป็น corporate crisis คนรวยลำบากเยอะ คนจนได้รับผลพวงบ้างก็เป็นระยะสั้น เศรษฐกิจติดลบไป 2 ปี แต่อีก 3 ปีก็กลับมาที่เดิม แต่คนที่ได้มากขึ้นเป็นรากหญ้ามากกว่าคนเคยรวย ลองคิดดูว่า จาก 25 บาท/เหรียญ เป็น 40 บาท/เหรียญ เกษตกรได้เพิ่มเท่าไหร่ เกิด export boom การจ้างงานเพิ่มมาก (ก็เรานิยม labor intensive) แรงงานได้เพิ่มมากในระยะต้น
พรรคประชาธิปัตย์ นั่งแก้ปัญหาอยู่เกือบสามปี ช่วงแรกคนลำบากเยอะ ต้องกัดลูกปืน (bite the bullets) ของท่านIMF ประชาชนไม่พอใจกับความลำบาก มีอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องแก้ปัญหา และ ส.ส. ลาออกเยอะเพื่อไปร่วมกับพรรคใหม่ นายชวน หลีกภัย เลยต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ต้นปี 2544 ทำให้ “ไทยรักไทย” ได้เสียง 250 จาก 500 (ประชาธิปัตย์ได้แค่ 129 เสียง) มาเป็นรัฐบาล “ทักษิณ1″ รับอานิสงส์ไปเต็มๆ
เรื่องที่สอง เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บังคับให้มีการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจในการจัดการทรัพยากรเองบ้าง แทนที่จะต้องนั่งรอขอ รอเมตตาจากส่วนกลาง หรือรอจนกว่าจะได้ ส.ส. สุดอัจฉริยะไปเบียดบังงบประมาณจากภาคส่วนอื่นๆของประเทศมาเทใส่จังหวัด ใส่ท้องถิ่นตนอย่างเหลือเฟือ (ท่านได้รับอิสระแล้วในวันนี้เอง)การกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปี 2544 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีส่วนมากในการทำให้คนรากหญ้าเข้าถึงและจัดการทรัพยากรส่วนกลางได้มากขึ้น (ซึ่งเรื่องนี้ หลายคนบ่นว่าทำให้เกิดการกระจายการโกงกินไปด้วย แล้วมีผลให้เกิดการเชื่อมโยงแนบแน่นขึ้น ผ่านกระบวนการนักโกงกินระดับชาติ กับนักโกงกินท้องถิ่น)
ทั้งสองเรื่อง เป็นประโยชน์ที่ช่วยให้เกิดการกระจายที่ดีขึ้น โดยรัฐบาลยังไม่ต้องทำอะไร
แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณทำอะไรบ้าง คนถึงรักเทิดทูนเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดเป็นเทพซะหน่อย….
ความจริง ในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในช่วง ห้าปีเศษของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ (2544-2549) ไม่ได้ดีเด่นอะไร เศรษฐกิจเติบโตในอัตราเฉลี่ยแค่ 5.1% ต่อปี นับว่าค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำ ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศ Emerging Market ด้วยกัน หรือจะเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ หาได้สมกับฉายา Economic Tzar ที่ใครๆ พากันประโคม
แต่มีหลายเรื่อง ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำดีทำเก่ง ทำให้เกิดการกระจาย ทั้งรายได้ ทั้งโอกาส อย่างกว้างขวาง และลึก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เข้าสู่กลุ่มที่เราเรียกว่า “รากหญ้า” (ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่เคยขาดโอกาส…ไม่ได้มีนัยยะดูถูกแต่ประการใด) และจะขอยกมาตามที่ได้สังเกต
เรื่องแรก เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ความจริงแล้ว 12 ปี (ตั้งแต่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ปี 2531) ประเทศถูกปกครองโดยระบบ Buffet Cabinet โดยนักการเมืองรัฐบาลผสม แบ่งเค้ก ระบบเทคโนแครต กลไกราชการถูกทำลายแทบราบเรียบสิ้นเชิง ระบบและข้าราชการถูกเปลี่ยนให้สนองเป้าหมายทางการเมือง (ทั้งเป้าดี เป้าชั่ว) กลไกเรียกได้ว่าหย่อนประสิทธิภาพมาก นโยบายถึงจะมีดี แต่ยากที่จะถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผล (ถึงตอนนี้ ต้องขอโทษข้าราชการที่ดีที่ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย แต่ผมคิดว่าท่านก็น่าจะอึดอัดกับระบบแบบนี้อยู่)
ความที่เป็นนักบริหารและค่อนข้างลงมือปฏิบัติจริง (hands-on) พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถผลักดัน สามารถบังคับใช้กฎหมาย (execute) ให้กลไกราชการกลับมามี “ประสิทธิผล” (effective) เพิ่มขึ้น นโยบายมีผลมากขึ้นเยอะ (เรียกว่า แก้จากแย่มาก ให้เป็นแย่น้อยลงได้) การปฏิรูประบบราชการ ก็ช่วยให้มีความคล่องตัวมากขึ้น การตั้ง KPI ให้ข้าราชการเป็นครั้งแรกช่วยกระตุ้นให้อย่างน้อยต้องมีผลงานด้านดีบ้าง (KPI ด้านชั่ว ต้องไปตั้งกันอย่างลับๆ) จำ “อาจสามารถโมเดล” ได้ไหม ความจริงงานทุกอย่างควรถูกจัดทำอยู่แล้วโดยหน่วยราชการทั้งหลาย แต่ทุกหน่วยเฉื่อยแฉะ ไม่ทำอะไร พอท่านลงไปตั้งแคมป์เพื่อโชว์ถ่ายทอดสด real time ชาว อ.อาจสามารถก็เลยเฮง ได้ทุกอย่าง (ที่จริงควรจะได้อยู่แล้ว) เป็นบูรณาการ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำไป
เรื่องที่สอง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ช่วง 5 ปีของรัฐบาลทักษิณ งบประมาณแผ่นดินที่ส่งผลถึงรากหญ้า (จากการรวบรวมแยกแยะใหม่ ของทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร) จากเดิมที่มีเพียง 16% ของงบประมาณ เพิ่มเป็น 24% ถึงแม้บางส่วนอาจมาจากรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ผลก็มาเกิดในช่วงนี้ ลองคิดดู่ว่างบประมาณปีหนึ่งๆ 1.5 – 2 ล้านล้าน 8% ที่มาเพิ่ม ปีละ 1.2-1.6 แสนล้านบาท ที่ตกถึงรากหญ้าเพิ่มขึ้น ถึงจะรั่ว จะไหล ไปบ้าง แต่ที่เหลือก็สร้างความมั่งคั่ง บรรเทาความเดือดร้อนให้พวกเขาได้ไม่น้อย
เรื่องที่สาม คือการใช้เงินนอกระบบงบประมาณ สิ่งที่เพิ่มมากมีอยู่สองอย่าง คือ เงินกู้ต่างๆ ที่อัดให้กับรากหญ้า ผ่านกองทุนรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุน SML กับผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ปี 2541 สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ (SFI) เหล่านี้ มีทรัพย์สินรวมกันแค่ 350,000 ล้านบาท เป็น 12% ของ GDP เวลานั้น ปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกว่า 4,000,000 ล้านบาท คิดเป็น 37% ของ GDP เงินเหล่านี้ ถึงจะไปสู่รายใหญ่ หรือรั่วไปอยู่ในตู้เสื้อผ้าใครบ้าง แต่ส่วนที่ตกถึงมือชาวบ้าน ก็เพียงพอที่จะสร้างความรักเคารพให้อย่างล้นเหลือ
เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องที่อาจไม่เกี่ยวกับรากหญ้าโดยตรง แต่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งส่งผลต่อให้มีการระดมทุนภาคเอกชนอีกมาก และการจ้างงานเพิ่มเต็มที่ (ไม่งั้นชะลอกว่านี้อีกเยอะ) คือการนำรัฐวิสาหกิจใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ผมขอไม่เรียกว่า แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะจริงๆแล้วทำแค่ครึ่งเดียวของ Privatization ที่ควรทำ) ซึ่งทำให้ ตลาดทุนที่ซบเซาอย่างมากหลังวิกฤติ (SET INDEX ก่อน เอาบริษัทปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ดัชนีแค่ 280) กลับมามีชีวิต คึกคัก ดึงดูดการลงทุนได้มาก ผมขอเดาว่า ถ้าไม่มีการนำ ปตท. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และลูกๆ, ทอท., อสมท. การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะหายไปปีละเกือบ 1% เลยทีเดียว
เรื่องนี้ เป็นเครื่องวัด “ประสิทธิผล” เปรียบเทียบได้ดี เพราะรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็มีแผนเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่สามปีไม่คืบหน้าเลย ขณะที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณทำปีเดียวออกได้เป็นพรวน และผมประทับใจคุณทักษิณมาก ที่กล้าประกาศเลยว่า จะเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในการหาเสียง ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องเลือกพรรคไทยรักไทย ไม่เหมือนพรรคอื่นๆ ที่หงอ กลัว NGOs ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องดี เลยไม่กล้า แทนที่จะพยายามอธิบายชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เป็นที่น่าเสียดายมาก ที่เราไม่มีการแปรรูปอีกเลย ที่ค้างไว้ ที่ทำไปครึ่งเดียว ไม่มีการสานต่อ เลยกลายเป็นแค่ “รัฐวิสาหกิจจดทะเบียน” ที่ยังอยู่ใต้อำนาจ ใต้อุ้งเท้านักการเมือง
เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ การประชานิยมทั้งหลาย ทุกการประชานิยม จะดีจะเลว อย่างน้อยก็เป็นการ redistribution นั่น คือ การเอาทรัพยากรกลาง (ซึ่งแน่นอนครับ เก็บมาจากภาษี และคนมีมากก็ต้องเสียภาษีมากกว่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะภาษีทางตรง ทางอ้อม เพราะบริโภคมากกว่าอยู่ดี) ไปกระจาย และแน่นอนว่าย่อมกระจายให้กับคนจน คนด้อยโอกาส พวกรากหญ้าได้รับมากกว่า
อันว่าประชานิยมไม่ใช่ว่าจะแย่ไปเสียทั้งหมด อย่าง “หลักประกันสุขภาพทั่วหน้า” นับว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้ หรือ ประชานิยมประเภทที่ทำให้คนได้ทุน ได้รับการศึกษาที่ดี ได้ฝึกอาชีพ ก็คุ้มค่า หรืออย่างนโยบายขึ้นค่าแรง ก็พอรับได้ พวกประชานิยมที่แย่หน่อย ก็พวกแจกเงินแบบ “เอาไปกิน…แล้วก็ถ่าย” ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพใดๆ..แต่ที่แย่สุด ก็คือพวกที่นอกจากไม่เกิดผลิตภาพแล้ว ยังไปบิดเบือนกลไกตลาด ไปครอบงำ และทำลายกลไก ทำลายประสิทธิภาพ ผลิตภาพที่สร้างสมมานาน แถมออกแบบให้รั่วง่าย ไหลง่าย “ประชาชน” ได้รับส่วนน้อย ที่เหลือหายไปกับสายลมหมด
อันหลังนี่ ถามใครก็ตอบได้ สามคำจำง่าย ก็โครงการ “จำนำข้าว” ที่ยังนั่งยันยืนยันว่า “มีประโยชน์” แถมท่าน ส.ส. ผู้ทรงเกียรติอีกสามร้อยกว่าคน ก็ช่วยยกมือยืนยันให้อีก (เฮ้อ…เขาถึงไม่เอายุบสภาไงครับ คงกลัวพวกท่านกลับมายกมือตะบี้ตะบันอีก)
ที่เขียนมายืดยาวในบทนี้ เป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมคนกลุ่มใหญ่จึงชื่นชมสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดเรื่องโง่อะไร ถ้าผมเกิดมาในนา ไม่ได้โชคดีได้รับโอกาสเล่าเรียนในสถาบันชั้นดี (วชิราวุธ-จุฬาฯ) ไม่ได้โชคดีได้งานดี มั่งคั่งง่ายๆ ผมย่อมชื่นชมกับคนที่หยิบยื่นโอกาสให้ผม คนที่พูดแล้วทำจริง เอามาให้ผมได้รับจริง ไม่เห็นแปลกอะไรที่ผมจะชื่นชมยกย่อง โดยเฉพาะในสังคมที่แต่เดิมคนมีโอกาสเขาไม่เคยแบ่งเคยปัน เอาแต่กอบโกยเสวยสุข แถมยังมีท่าทีดูถูกเหยียดหยาม ไม่เคยเคารพ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของคนยากไร้ ด้อยการศึกษา
ถึงตอนนี้…อย่าเพิ่งตราหน้าผมว่าเป็น “พวกเสื้อแดง” นะครับ (ความจริงหลายเรื่องผมก็เป็นเสื้อแดงอยู่นะ) ผมไม่ได้ชื่นชมระบอบ นโยบาย วิธีคิด วิธีทำ ของรัฐบาลทักษิณสักเท่าไหร่ ทุกเรื่องมีต้นทุน มีผลกระทบ มีข้อผิดพลาดรั่วไหล และแม้แต่ทำไปนานๆ แล้วสามารถบิดเบือนไปได้แม้จากเจตนา จากเป้าประสงค์ดั้งเดิม
ตอนหน้า จะมาวิเคราะห์ถึงข้อเสีย ผลกระทบ ตลอดจนปัญหาของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
หวังลมๆ แล้งๆ ว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์บ้าง…แต่…ไม่รู้ว่าทันหรือเปล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น