โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
5 ตุลาคม 2554
เครือข่ายแดงนานาชาตื ประกอบไปด้วย Thai Red Australia Thai Red USA UDD-Thai of Europe Thai Red in Japan Thai Red Japan และ Thai Red Taiwan ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก เรื่องสนับสนุนข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ในโอกาสครบรอบ ๕ ปีรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ทั้ง ๔ ประเด็น โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
อันเป็นที่ทราบกันดีแล้วถึงการที่คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๗ ท่าน ได้นำเสนอต่อสาธารณะชนในหลักการข้อกฏหมาย ๔ ประเด็น เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสครบรอบ ๑ ปีของการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์นั้น
และเป็นการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุกฤษทางการเมือง และสังคมในประเทศไทย ที่เป็นมาตลอดเวลากว่า ๕ ปี เมื่อมีการละเมิดอธิปไตยของปวงชนอย่างน่าละอายในสายตาชุมชนอารยะทั่วโลก ด้วยการบิดเบือนอำนาจตุลาการ และบดบังแนวทางประชาธิปไตย ใช้เล่ห์เพทุบาย ใช้ข้ออ้างอย่างไร้จริยธรรม กำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งเรียกร้องสนับสนุนแนวทางก้าวหน้าในวิถีประชาธิปไตย
อีกทั้งเลวร้ายไปถึงกระทั่งเข่นฆ่าประชาชนด้วยอำนาจแห่งกฏหมายเบ็ดเสร็จ (Draconian Laws) แล้วยังตามรังควาญ จับกุม จองจำ บุคคลจำนวนมมากที่พยายามประกาศสิทธิเสรีภาพแห่งการเป็นมนุษย์ด้วยการเสนอ และแสดงข้อคิดเห็นอย่างอิสระ
พวกเราชาวไทยที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ และมุ่งหวังต้องการให้ประเทศบ้านเกิดสามารถบรรลุถึงซึ่งความสมานฉันท์ในหมู่ ประชาชนตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแอย่างแท้จริงโดยเร็วไว เห็นชอบว่า ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการปรับ ปรุง ฟื้นฟู และแม้แต่ก่อกำเหนิดวิถีทางใหม่ๆ
เพื่อที่ประเทศไทยจักได้เป็นสังคมแห่งความเท่าเทียม ปราศจากการทับซ้อนในมาตรฐานการบังคับใช้กฏหมาย และถือปฏิบัติวัฒนธรรมทางสังคมในระนาบของการเป็นอารยะสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อยุติวิธีการอ้างอิงอำนาจก้าวล้ำหลักนิติธรรม (Rule of Law) มาใช้กดขี่ กำหราบ และปราบปรามประชาชน ไม่ว่าจะเป็นส่วนใหญ่หรือส่วนย่อย ที่แสดงออกซึ่งสิทธิ และเสรีภาพส่วนบุคคลของตนตามแนวทางประชาธิปไตย และในขอบข่ายของหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ดังที่เราขอกล่าวถึงไว้เป็นอนุสนธิโดยสังเขป ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเรียกร้องให้ผลของการรัฐประหารในระหว่างวันที่ ๑๙ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่า ไม่มีผลในทางกฏหมายอีกต่อไป
เช่นเดียวกับมาตรา ๓๖ และ ๓๗ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมทั้งคำวินิจฉัย คำพิพากษา ขององค์กรตุลาการต่างๆ ซึ่งเกิดจากอำนาจคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้กระทำ และก่อการรัฐประหาร ในโทษฐานกบฏต่อราชอาณาจักรได้
ประเด็นที่สอง การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ตามแนวทางที่คณะนิติราษฎร์ได้ประกาศไว้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ ทั้งสิ้น ๗ ประการ อันประกอบด้วยสาระหลักๆ ได้แก่ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ดังกล่าวจากที่ปัจจุบันอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ เหตุเพราะขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
เนื่องจากบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะรัฐประหาร แล้วนำไปเพิ่มเติมไว้ในหมวดประมวลกฏหมายอาญาปรกติ โดยให้มีการแก้ไขสารัตถะบางอย่างอาทิ ไม่ให้มีอัตราโทษขั้นต่ำ และกำหนดโทษสูงสุดไว้ให้จำคุกไม่เกิน ๓ ปี เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดเมื่อเป็นการแสดงข้อคิดเห็นโดยสุจริต ยกเว้นโทษถ้ากระบวนการพิจารณาพิสูจน์แล้วว่าข้อที่ผู้ถูกกล่าวหาพูด หรือกระทำเป็นความจริง
และสำคัญที่สุดจะต้องให้ผู้กล่าวโทษมาจากตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ นั่นคือสำนักราชเลขาธิการเท่านั้น
ทั้งนี้เราขอเพิ่มเติมในข้อที่คณะนิติราษฎร์ละไว้เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิด จากการปรับใช้ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา ซึ่งหากมีการปรับปรุงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาให้ถูกต้องตามภาวะวิสัย ไม่ใช่อัตะวิสัยเช่นที่เป็นมา ดังข้อเสนอแนะของหนึ่งในคณาจารย์นิติราษฎร์แล้วอาจจะทำให้เกิดความชอบธรรมก็ ตาม
แต่เพื่อมิให้เกิดการผิดพลาดได้ซ้ำซากควรที่จะระบุไว้ให้ชัดแจ้งด้วยว่า การพิจารณาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ใกล้ชิดชั้นในนั้นต้องไม่กระทำเป็นความลับ
ประเด็นที่สาม กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากรัฐประหาร ซึ่งเราขอร่วมกับคณะนิติราษฎร์คัดค้านการออกกฏหมายนิรโทษกรรมเพื่อ ล้างกระดานทั้งหมด อันจะเป็นผลให้ยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงในเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ไปเสียด้วยเช่นกัน อีกทั้งเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการเยียวยาผู้ได้รับผลร้ายนับแต่รัฐประหาร เป็นต้นมาโดยถ้วนหน้าไม่เลือกปฏิบัติ
ประเด็นที่สี่ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีที่มาอย่างไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย แล้ว ยังเป็นเป็นกฏหมายแม่ที่ให้อำนาจแก่องค์กรทางการเมืองที่เรียกว่าองค์กร อิสระ และองค์กรกึ่งตุลาการ ที่ดำเนินการด้วยอัตตะวิสัยก่อให้เกิดปัญหามากมายด้วยการนำมาตรฐานซ้อนมาใช้ ในการบังคับกฏหมาย
เราเห็นด้วยกับคณะนิติราษฎร์ที่เสนอให้นำกฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พ.ศ. ๒๔๘๙ และ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาใช้เป็นตัวตั้งในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับเต็มไปด้วยลักษณะแห่งแนวทางประชาธิปไตยแท้ จริง และมีที่มาจากปวงชนชาวไทยทั้งมวล อย่างใดอย่างหนึ่งหรือสองอย่างร่วมกัน มากที่สุดในจำนวนรัฐธรรมนูญนับสิบๆ ฉบับของไทยที่มีมา
ด้วยความนับถืออย่างปวงชนผู้เท่าเทียม
เครือขายแดงนานาชาติ
๔ ตุลาคม ๒๕๕๔
Thai Red Australia, Thai Red USA ,UDD-Thai of Europe,
Thai Red in Japan, Thai Red Japan, Thai Red Taiwan
http://thaienews.blogspot.com/2011/10/blog-post_7519.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น