Wed, 2011-09-28 22:18
ชื่อเรื่องเดิม: ถ้าตายให้ไปแจ้งที่อิมพีเรียล BIG C ลาดพร้าว ตามรหัส นปช.
โดย เพียงคำ ประดับความ
หมายเหตุ: สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของหนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อรวบรวมเรื่องราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com |
1
“นปช.สุภชีพ จุลทัศน์
สมาชิกเลขที่ 044116
ขอให้ลูกๆ มีความสุข
สุขสันต์วันเกิดแอม
12 พฤษภาคม 2536
ถ้าตายให้ไปแจ้ง
ที่อิมพีเรียลBIGCลาดพร้าว
ตามรหัส 044116”
สุภชีพ จุลทัศน์ คนขับแท็กซี่ชาวศรีสะเกษวัย 36 ปี ใช้ดินสอเขียนข้อความนี้บนกระดาษที่ฉีกจากสมุดบันทึก แล้ววางทิ้งไว้บนหัวเตียง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์มือถือ ก่อนออกจากห้องเช่า ที่เขาอาศัยอยู่กับภรรยา ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553
หลังจากนั้นหนึ่งวัน เขาถูกยิงเข้าศีรษะ บริเวณซอยรางน้ำ-ราชปรารภ...เสียชีวิต
ภรรยาของเขาเรียกกระดาษแผ่นนี้ว่า “ใบสั่งตาย”
ในวันสุดท้ายที่ออกจากบ้าน เขาไม่ใช่ “นายสุภชีพ จุลทัศน์” หากคือ “นปช.สุภชีพ จุลทัศน์” บัตรยืนยันสถานะพลเมืองไทยถูกวางทิ้งไว้ข้างหลัง พร้อมโทรศัพท์มือถือ อันเป็นสื่อเชื่อมต่อระหว่างตัวเขาและผู้คนทั้งหมดที่มีในชีวิต รหัสบัตรที่เขียนบอกเมียอย่างแจ่มชัดนั้น ดูเหมือนถูกคาดหวังว่าจะช่วยลบคราบน้ำตาแก่คนที่เขารักได้บ้าง หากตัวเขาไม่ได้กลับมา วันที่ซึ่งระบุไว้ในใบสั่งตาย “12 พฤษภาคม 2536” คือวันเกิดของลูกสาวคนโต แน่นอนว่าในสมรภูมิที่คู่ต่อสู้มีกำลังไม่ทัดเทียมกัน การกระโจนเข้าร่วมรบในฝ่ายเสียเปรียบ แทบไม่ต่างจากการเดินเข้าสู่หลักประหาร คำอวยพรวันเกิดที่ตั้งใจเขียนทิ้งไว้ให้ลูกสาว คือสิ่งบอกย้ำว่า การตัดสินใจเช่นนั้น มิใช่ไม่คิดถึงคนข้างหลัง
สถานการณ์ได้เดินทางไปถึงจุดแตกหักแล้ว ในวันที่ นปช.สุภชีพออกไปร่วมชุมนุมครั้งสุดท้าย เย็นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ถูกยิงเข้าศีรษะ ขณะยืนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอยู่บริเวณแยกศาลาแดง อาการสาหัส ยังไม่รู้เป็นตาย ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา นายชาติชาย ชาเหลา คนขับแท็กซี่ชาวอำเภอปราสาทจังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงเข้าศีรษะ เสียชีวิตขณะถือกล้องถ่ายวิดีโออยู่ตรงข้ามสวนลุมพินี ปฏิบัติการกระชับพื้นที่โหมปะทุขึ้นแล้วอย่างทารุณ มีผู้บาดเจ็บล้มตาย...คนแล้วคนเล่า
ไม่มีใครรู้ว่า หากย้อนทุกสิ่งคืนกลับมาได้ สุภชีพ จุลทัศน์ จะยังตัดสินใจทำเช่นนั้นอยู่อีกหรือไม่ แต่สำหรับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขา เธอบอกกล่าวอย่างไม่ลังเลว่า ยังอยากย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
“พี่ไม่เคยให้เขาไปเลย มีแต่บอกว่าไม่ต้องไป เราทำมาหาเช้ากินค่ำเลี้ยงลูกเราดีกว่า เขาก็บอกแต่ว่าเขาชอบ เขาชอบมาก เขาอยากไป เราไม่ได้ดูถูกความตั้งใจของเขา เขามีอุดมการณ์ของเขา แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ถ้ารู้ว่าเขาจะตายวันที่สิบห้า พี่จะพาเขากลับมาบ้านตั้งแต่วันที่สิบสองแล้ว” หม้ายประชาธิปไตยกล่าวด้วยน้ำเสียงหดหู่
2
เย็นวันที่เราเดินทางไปยังบ้านไม้สองชั้นกึ่งปูน เลขที่ 16 ในหมู่บ้านหนองเข็ง หมู่ 3 ตำบลโพนเขวา อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษนั้น รุ่งทิพย์ สุพิศ หรือ “น้อย” อดีตกุ๊กรายวันโรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ (Swissotel Le Concorde Bangkok) วัยสามสิบเจ็ดปี เพิ่งกลับจากขายข้าวแกงที่โรงเรียนมัธยมในตำบลใกล้เคียง
เธอต้อนรับเราที่แคร่ไม้ใต้ถุนบ้าน พร้อมไปกับการดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ของเธอ เสื้อสีแดงสดที่หญิงร่างเล็กผู้นี้สวมใส่ กับกำไลข้อมือยางสีเดียวกัน ทำให้เราคาดเดาไปว่าเธอคงเคยไปร่วมชุมนุมกับสามี หรือไม่ก็คอยสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ข้างหลัง
แต่เมื่อได้พูดคุยกัน น้อยบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “พี่ไม่ชอบการชุมนุม ไม่ชอบเลย ที่ใส่เสื้อดงเสื้อแดงนี่ก็ไม่ใช่ว่าชอบนะ แต่พี่เป็นคนเกิดวันอาทิตย์ พี่จะใส่สีแดงของพี่เป็นปกติอยู่แล้ว”
ข้อมูลจากเว็บไซต์ออนไลน์อธิบายการตายของสุภชีพไว้เพียงสั้นๆ เหมือนๆ กันเกือบทุกเว็บว่า “นายสุภชีพ จุลทัศน์ อายุ 36 ปี แผลที่ศีรษะ เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล” หนังสือรับรองการตายของโรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า “บาดแผลกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ”
น้อยย้อนเล่าถึงวันที่ได้พบหน้าสามีเป็นครั้งสุดท้ายว่า
“วันนั้นเราแยกกันตรงรถไฟฟ้าห้วยขวาง ตอนห้าโมงเย็น พี่จะไปทำงานต่อ เขาก็แยกไปของเขา ก่อนไปพี่ก็บอกเขาอยู่นะว่าอย่าเข้าไปตรงนั้น เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร บอกแค่ว่าดูแลลูกให้ดี ก็คิดว่าเขาเข้าบ้านเช่า คืนนั้นพี่โทรหายังไงเขาก็ไม่รับสาย เลิกงานกลับถึงห้องตอนตีสอง เห็นใบนี่วางไว้ วันนั้นก่อนออกไปเขาไม่ได้เขียนไว้นะ คงเข้ามาเขียนทีหลัง คือเขาเขียนสั่งไว้เลยว่าถ้าตายให้ไปแจ้งที่อิมพีเรียลลาดพร้าว ตามรหัส นปช. ของเขา เขียนตัวเบ้อเริ่มเลย โทรศัพท์มือถือก็ไม่เอาไป มิน่าโทรเข้าถึงไม่รับสาย มีแต่เบอร์พี่โชว์ในเครื่อง บัตรประชาชนก็เอาวางไว้ เอาไปแค่บัตรแดงนปช. ใบเดียว วันที่ตายก็บัตรนั้นแหละแขวนคอเขาอยู่”
“สุภชีพ จุลทัศน์” หรือ “ชีพ” เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2517 ที่บ้านลำเพียก ตำบลสระตะเคียน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เมื่ออายุได้ 5-6 ขวบ พ่อแม่พาย้ายมาอยู่ที่บ้านโพธิ์ ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่ หลังเรียนจบ ป.6 ที่โรงเรียนบ้านโพธิ์โนนจานอีลอก ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ ต่อมาจึงได้พบกับน้อย และอยู่กินกันมาตั้งแต่ปี 2535
“อายุพี่ตอนนั้นสิบแปดปี เขาสิบเจ็ด เขามาทำงานร้านอาหารที่พี่ชายพี่ทำอยู่ ก็เลยได้เจอกัน” น้อยเล่าถึงวันคืนเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน “จริงๆ บ้านเราอยู่ห่างกันแค่สามกิโลฯ แต่ไม่เคยรู้จักกันหรอก ไปรู้จักกันที่กรุงเทพฯ ก็อยู่กินกันมา พอมีลูกก็เอาฝากให้พ่อแม่พี่เลี้ยงอยู่ที่บ้านนี้แหละ ลูกพี่อยู่กับตายายมาตั้งแต่ขวบ”
ปัจจุบัน นางสาวศิริสุข จุลทัศน์ หรือ “แอม” ลูกสาวคนโตของน้อยและสุภชีพ อายุ 18 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 โรงเรียนไกรภักดีวิทยาคม ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลโพธิ์ที่สุภชีพเติบโตมา ส่วนลูกสาวคนเล็ก ด.ญ.ศิริพร จุลทัศน์ หรือ “อู๋” อายุ 13 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนเดียวกัน
หลังการตายของสามีไม่นาน นายถา สุพิศ พ่อวัยชราของน้อย ก็มาล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จนเป็นอัมพฤกษ์ดูแลตัวเองไม่ได้ น้อยตัดสินใจทิ้งงานกุ๊กโรงแรมห้าดาวที่เธอบอกว่าเสียดายเงินเดือนเดือนละ เก้าพันบาทสำหรับคนจบแค่ ป.หก เดินทางกลับศรีสะเกษเพื่อดูแลพ่อที่ป่วยและลูกสาวสองคนที่กำลังวัยรุ่น อาศัยขายข้าวแกงในโรงเรียนมัธยมที่ลูกสาวทั้งสองเรียนอยู่ พอได้เงินจุนเจือครอบครัว
การเดินทางกลับภูมิลำเนาครั้งนี้ของน้อย เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ตั้งใจ
“ทีแรกว่าจะเก็บเงินปลูกบ้านให้ได้ก่อน พ่อพี่ยกที่ดินให้ ก็ไม่ถึงงานหรอก แต่พอปลูกบ้านได้อยู่ ตั้งใจว่าถ้าปลูกบ้านได้ก็จะย้ายกลับมา เราลูกชาวนา พออายุมากก็หนีไม่พ้นการทำนาหรอก มาเก็บผักหาปูหาปลาเอา บ้านไม่ต้องเช่า แถวบ้านนอกมันก็พอมีกินอยู่”
แม้ไม่ได้คิดฝันใหญ่โต แต่สองสามีภรรยาที่มีต้นทุนการศึกษาแค่ ป.6 ทำงานเป็นแรงงานระดับล่าง ดำรงชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง ทั้งยังต้องเจียดเงินส่งให้พ่อแม่เลี้ยงลูกสองคนที่ต่างจังหวัด การเก็บเงินปลูกบ้านไม่ใช่เรื่องจะทำให้สำเร็จได้โดยง่าย แม้พยายามทุ่มเททำงานหนักเพียงใดก็ตาม
หลายปีที่ผ่านมา ทุกลมหายใจเข้าออกของน้อยมีแต่งานและครอบครัว เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็กที่ทำงานหนัก ทุกวันหลังเลิกงานกุ๊ก ยังไปรับจ้างล้างแก้วต่อที่บาร์ญี่ปุ่น ได้ค่าแรงเพิ่มอีกวันละสองร้อยกว่าบาท แต่ละวันมีเวลานอนเพียงสองสามชั่วโมง
“พี่เข้างานเจ็ดโมงเช้า เลิกสี่โมงเย็น อาบน้ำเสร็จหกโมง ก็ไปต่ออีก เลิกตีสอง คือเลิกงานโรงแรมแล้วพี่ไปรับจ๊อบต่อที่บาร์ญี่ปุ่น แถวสุขุมวิทสามสิบเก้า นั่งรถไฟฟ้าไปจากห้วยขวาง วันละยี่สิบห้าบาท ไปรับจ้างล้างแก้วเล็กๆ ให้เขา คอยตัดผลไม้แล้วก็เปิดเบียร์ยื่นให้เด็กบาร์ไปเสิร์ฟอีกทีหนึ่ง”
แต่สำหรับสุภชีพ จุลทัศน์ ดูเหมือนเขาเลือกใช้ชีวิตอีกแบบ น้อยบอกว่าเขาชอบงานอิสระ และรักความยุติธรรม
“เขาเข้าๆ ออกๆ งานนู้นงานนี้ตลอด เคยไปทำงานอยู่กับพี่ เป็นสจ๊วตล้างจาน ได้วันละสองร้อยห้าสิบ ทำได้สองสามเดือนก็บอกอยากไปขับแท็กซี่ พอเบื่อแท็กซี่ก็ไปรับจ้างตรงนู้นตรงนี้มั่ง แต่สุดท้ายก็กลับมาตายที่แท็กซี่เหมือนเดิม เป็นยามก็เคยเป็นนะ แต่ทำได้ไม่นาน เขาเบื่อเจ้านายด่า เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ เขาเป็นแบบนี้ พี่ก็บ่นจนพี่เหนื่อย เพราะแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายมันเยอะ ค่าเช่าห้องก็สามพันแล้ว บางเดือนก็หาไม่ทัน ไม่ได้ส่งให้พ่อแม่กิน ไม่ได้ส่งให้ลูก”
น้อยเป็นคนพูดจาโผงผางเสียงดัง ขณะสุภชีพมีนิสัยตรงกันข้าม
“เขาจะเป็นคนเงียบๆ เรียบร้อยอยู่ ชีวิตเขาก็เรียบๆ จะเฉื่อยหน่อย แต่เวลาพูดอะไรเขาก็ฟังอยู่ ถึงไม่ปฏิบัติตามเท่าไหร่ก็เถอะ” เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ น้อยเสียงเบาลง “คือเราก็รู้ใจเขา เขาจะเป็นคนซื่อๆ พี่จะคอยช่วยเขาตลอด ไม่ว่าจะเรื่องอะไร...แต่เขาก็รักครอบครัว รักลูกมาก มีอะไรก็อยากให้ลูกได้กิน เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาหาไม่ค่อยได้ เขาก็พูดอยู่ว่าลูกอยากได้นู่นได้นี่ก็ให้ไม่ได้ บางทีฝากเงินลูกไว้ก็มายืมลูกคืน เขาเป็นซะอย่างนี้”
3
ช่วงก่อนที่สุภชีพจะเสียชีวิต...เขาเช่าห้องอยู่กับน้อย ใกล้ๆ โรงแรมที่น้อยทำงานอยู่ แต่เวลางานไม่ตรงกัน บางวันสองสามีภรรยาจึงแทบไม่ได้เจอหน้ากันเลย อาศัยติดต่อกันทางโทรศัพท์
“เราโทรคุยกันตลอด อยู่ไหน กินข้าวรึยัง เอารถเข้าอู่รึยัง เดี๋ยวเจ๊โทรตาม เจ๊เจ้าของอู่จะโทรมาตามกับพี่ เพราะเราเป็นคนค้ำรถแท็กซี่ให้ไง ถ้าเอารถเข้าอู่แล้วก็เออ แล้วไป เราก็จะไม่ห่วงแล้ว ส่วนมากเขาก็ไม่ไปไหนไกล มีครั้งนี้แหละที่เขาไปไม่กลับเลย”
สุภชีพเริ่มไปชุมนุมกับคนเสื้อแดงในปีที่เขาเสียชีวิตนั้นเอง เท่าที่น้อยรู้
“ช่วงกุมภามีนาปีที่แล้วนี่แหละ เขาเริ่มจะชอบเสื้อแดงแล้ว ได้ยินเขาพูดว่าเห็นเขาชุมนุมกัน เขาขับแท็กซี่ผ่านเก็เจอ บางทีก็กลับมาเล่าว่าเขาเจอแต่คนคุยกันเรื่องเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่ก่อนมันจะมีเสื้อเหลืองก่อนไง ที่ตอนนั้นเขาจะกู้ชาติๆ อะไรกันนั่นแหละ ตั้งแต่นั้นเขาก็จะติดมาเลย”
ระยะหลังคนไม่ค่อยพูดอย่างสุภชีพ พูดแต่เรื่องการเมืองให้เมียฟัง
“เขาบอกเขาไม่ชอบรัฐบาลชุดเมื่อกี้ เพราะโกงเขามา ปล้นเขามา แล้วยังจะมีหน้าไปนั่งอยู่ทำไม ในเมื่อประชาชนไม่เชื่อใจคุณเลย บริหารประเทศก็ไม่ได้” น้อยพยายามเรียบเรียงคำพูดของสามี “อุดมการณ์ของเขามันมาก พี่ห้ามเขาอยู่ บอกว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เขา เราแค่คนหาเช้ากินค่ำ ประชาชนธรรมดา ไม่ต้องไปยุ่งหรอก เขาบอกว่าไม่ใช่ว่าเขาอยากยุ่ง แต่ทีนี้มันไม่ถูก ต่อไปจะข้าวยากหมากแพงกว่านี้ คำนี้เขาเคยพูดกับพี่ ข้าวของแพงมากเลย ขนาดเราอยู่กรุงเทพฯ เงินร้อยหนึ่งใช้ไม่ถึงห้านาทีหมดแล้ว เขาบอกเขาต้องทำเพื่อลูกหลาน อนาคตจะได้ไม่ลำบาก เขาอยากให้ประเทศชาติมันดีขึ้น...ทุกคนมีสิทธิคัดค้าน เขาก็เป็นคนคนหนึ่งในเมืองไทย เป็นคนคนหนึ่งในโลกนี้ ต้องมีสิทธิ ไม่ใช่ปล่อยให้คนทำผิด ไม่ห้าม”
แน่นอนว่าสามีของน้อยชื่นชอบอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เช่นเดียวกับคนเสื้อแดงอีกมากมาย
“นายกฯ ทักษิณมาจากการเลือกตั้ง เขาชอบพูดอย่างนี้ พี่ก็จะบอกว่าใครจะมาจากการเลือกตั้งก็เรื่องของเขา เราก็หาของเราไป เขาบอก ไม่ได้ ขนาดกำนันผู้ใหญ่บ้านยังต้องเลือกตั้งเลย ถ้าไม่เลือกตั้งใครจะให้เป็นผู้นำ คือเขาไปแล้วบางทีเขาไม่กลับ พี่ก็ถามว่าไปอยู่ที่ไหน ไปกินอะไร เขาก็บอกว่าอยู่ในนั้นแหละ ที่เขาประท้วง แถวสนามหลวงมั่ง หน้าบิ๊กซีลาดพร้าวก็ไป บางทีเขาไม่กลับ ไม่ขับรถ ปัญหามันก็เกิด ค่ารถไม่ได้ส่ง...วันที่เขาตาย เจ้าของแท็กซี่ยังบอกอยู่ว่ามันค้างค่าเช่าป้านะลูก คือเขาไปทุกวันตอนเย็น เอารถเข้าอู่แล้วต่อรถเมล์ไป พี่คิดว่าเขาไปทุกวัน เพราะกลับมาที่ห้องแล้วไม่เจอ เป็นอย่างนั้นทุกวันจนเขาเสีย...ยิ่งห้ามก็ยิ่งทะเลาะกัน”
นอกจากคอยบ่นและห้ามไม่ให้สุภชีพเข้าไปร่วมชุมนุมแล้ว น้อยยอมรับว่า ในตอนนั้นเธอแทบไม่ได้สนใจความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการ เมืองของสามีเลย
“ตอนเขาไปทำบัตร นปช. เขาก็เอามาโชว์นะ บอกว่าเป็นบัตร นปช. เป็นแนวร่วมอะไรเขาก็พูดของเขา เราก็ฟัง แต่ไม่ได้สนใจ พี่ทำแต่งาน ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ เขาได้เข้าไปฟังอะไรต่ออะไร บางทีก็มาเล่าให้ฟัง เวลาเห็นอภิสิทธิ์อยู่ในทีวีเขาก็จะบ่น หูย ไอ้ห่า บริหารก็ไม่ได้เรื่องยังมีหน้าคอตั้ง เขาก็ด่าของเขาไป เราก็ปล่อย บางทีก็เดินไปห้องเพื่อน เดินหนีดีกว่า บ่นคำสองคำเขาก็นอน ปกติเขาไม่ใช่คนพูดมากอยู่แล้ว”
ในวันที่คนเสื้อแดงเดินขบวนใหญ่ เมื่อมีขบวนรถที่เต็มไปด้วยริ้วผ้าและธงแดงเคลื่อนผ่านย่านห้วยขวาง-รัชดา น้อยเห็นสามีของเธอออกไปยืนโบกธงแดงให้ผู้ชุมนุมอย่างมีความสุข
“เขาเคยซื้อเสื้อความจริงวันนี้มาฝาก บอกเนี่ย ซื้อมาให้ใส่ ใส่สิ ใส่ไปทำงานเลยก็ได้ พี่บอกพี่มีเสื้อแดงของพี่อยู่แล้ว พี่ไม่ใส่หรอก เขาก็เลยเอาไปใส่เอง”
นปช.สุภชีพ จุลทัศน์ ไปร่วมชุมนุมเพียงลำพัง...เพื่อนไปหาเอาข้างหน้า
4
“หนองเข็ง” เป็นหมู่บ้านใหญ่ อยู่ห่างจากตัวเมืองศรีสะเกษเพียงสิบกิโลเมตร พ่อของน้อยเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อไปถามหานางรุ่งทิพย์ สุพิศ ชาวบ้านหนองเข็งหลายคนไม่รู้จัก เพราะน้อยเข้ากรุงเทพฯ ไปตั้งแต่วัยรุ่น แต่หากบอกว่าลูกสาวผู้ใหญ่ถาหรือผู้ใหญ่เก่า หรือไม่ก็เมียคนเสื้อแดงที่ถูกยิงตายที่กรุงเทพฯ ชาวบ้านหลายคนรู้จักดี
ในวันที่เราเดินทางไปนั้น “แอม” ลูกสาวคนโตของน้อยกลับจากโรงเรียนมาถึงราวห้าโมงเย็น เธอเอากระเป๋าไปเก็บในบ้าน แล้วออกมาช่วยแม่ดูแลตา พร้อมนั่งฟังการสนทนาไปพลางๆ
ก่อนหน้าที่สุภชีพจะเสียชีวิต ทุกปิดเทอมเขาจะรับลูกสาวทั้งสองไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ ปิดเทอมใหญ่ในฤดูร้อนของทุกปี คือช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูกได้อยู่พร้อมหน้ากันยาวนานที่สุด ปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน แอมกับอู๋ไปพักอยู่ที่ห้องเช่าย่านห้วยขวาง-รัชดาร่วมหนึ่งเดือน ยามพ่อแม่ออกไปทำงานก็ไปอยู่กับน้าสาวห้องข้างๆ
ช่วงที่ลูกมาอยู่ด้วย โดยมากสุภชีพมีเวลาอยู่กับลูกมากกว่า แต่พ่อที่เงียบขรึมกับลูกสาววัยรุ่น ไม่ค่อยสนิทกันนัก
“ลูกเขาอยู่กับตายายตั้งแต่เด็ก เลยไม่ค่อยสนิทกับพ่อ จะสนิทกับแม่มากกว่า พ่อเขาเป็นคนไม่ค่อยพูด เวลาอยากรู้ว่าลูกอยากได้อะไรก็จะบอกให้เราไปถามลูกอีกที คือพ่อลูกคุยกันผ่านแม่ ส่วนมากอยู่กันแบบนี้”
เมื่อหันไปทาง “แอม” ซึ่งนั่งฟังอยู่นานแล้ว สาวน้อยในชุดนักเรียนมอปลาย ปล่อยชายเสื้อออกนอกกระโปรง พูดด้วยท่าทีเรียบๆ ว่า “หนูกับพ่อไม่ค่อยได้คุยกัน คงเพราะเป็นคนนิสัยเหมือนกัน คือหนูก็ไม่พูด เขาก็ไม่พูด แต่กับน้องหนูตอนเป็นเด็กเค้าก็สนิทกับพ่อนะคะ แต่ว่าตอนนี้เค้าจะอาย เพราะโตเป็นสาวแล้ว เวลาพ่อมากอดมาหอมเค้าก็จะไม่ชอบ” ขณะนั้น “อู๋” ยังไม่กลับจากโรงเรียน
แต่ครั้งสุดท้ายที่แอมและน้องเข้าไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ นั้น พ่อมาคุยกับแอมเรื่องการเมือง
“พ่อเขาจะชอบมาเล่าเรื่องเสื้อแดง เขาคงจะชอบมาก เขาบอกว่าอภิสิทธิ์ไม่ดี เราก็บอกไม่ดีก็ช่างเขา หนูก็ไม่ได้อะไร คิดว่าตัวเองยังเด็กอยู่ เวลาเห็นรูปนายกฯ ทักษิณ พ่อก็จะบอกว่านี่พ่อของพ่อนะ แล้วก็ยกมือไหว้ ดูพ่อภูมิใจมาก หนูก็ไม่รู้ว่าพ่อชื่นชอบมากขนาดนั้น ก็คิดว่าคงเพราะเราเป็นชาวนามั้ง เพราะเราเสียเปรียบ หนูก็ไม่รู้อะไรมาก ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางอะไร...พ่อเขาเคยเอาบัตร นปช.มาอวด บอกว่า นี่พ่อไปทำมา ไปทำมั้ย เขาก็ชวน แต่พอหนูบอกไม่ไป เขาก็ไม่พูดอีก”
สุภชีพส่งลูกสาวทั้งสองกลับศรีสะเกษในวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 จากนั้นไม่กี่วัน ปฏิบัติการกระชับพื้นที่...ก็เริ่มขึ้น
สุภชีพไปหาซื้อหนังสะติ๊กมาพกติดตัวไว้...
ก่อนออกไปชุมนุมครั้งสุดท้ายหนึ่งวัน เขาไปขอยืมรองเท้าผ้าใบจากน้องเขยที่พักอยู่แถวลาดพร้าว โดยไม่บอกว่าจะไปไหน น้องเขยก็ไม่ได้เอะใจ ไม่คิดว่าคู่เขยของตนจะออกไปร่วมชุมนุม เพราะสถานการณ์ขณะนั้นเข้าขั้นวิกฤติแล้ว
ส่วน “น้อย” ยังคงจดจ่ออยู่กับการทำงานเหมือนเคย
กระทั่งสามีหายไปจากบ้านหลายวันติดต่อกัน เธอจึงเริ่มสังหรณ์ใจ
“ตอนแรกที่เขาไปแล้วเขียนใบสั่งตายทิ้งไว้ พี่ยังว่าใบอะไร ไม่รู้เรื่อง ก็ปล่อยวางอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เช้าก็ไปทำงานตามปกติ พอกลับมาอีกวันเขาก็ยังไม่กลับมา พี่ก็ยังไม่คิดอะไร คิดว่าเดี๋ยวก็กลับมาเอง” แต่พอหลายวันเข้า น้อยเริ่มเป็นกังวล ลองโทรไปตามที่บ้านศรีสะเกษ พ่อแม่เขาก็ว่าไม่ได้กลับไป “จนวันที่สิบเก้า น้องเขยมาบอกว่าฝันเห็นเขามาหา โกนหัวมาเลย ก็เลยไปตามหา”
น้อยเริ่มต้นตามหาสามีที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จากนั้นไปโรงพยาบาลตำรวจ แรกทีเดียวเธอคิดว่าสามีอาจถูกจับไปขัง แต่เมื่อตามหาไม่พบ จึงเริ่มมาคิดใหม่
“พอหาไม่เจอก็เริ่มใจไม่ดี คิดว่าบางทีเขาอาจจะตายแล้ว ก็เลยไปที่โรงบาลรามาฯ ไปห้องศพเลย ถามเขาว่ามีคนชื่อสุภชีพ จุลทัศน์มั้ยคะ เขาบอกว่ามี เป็นศพม็อบ จะดูมั้ย เราก็บอกว่าดู เขาก็กดคอมให้ดู ใบหน้าเขาชัดเจนเลย เขาใส่เสื้อแท็กซี่ มีเป้สะพาย แล้วก็มีป้ายแขวนบัตร นปช. เขาถูกยิงนัดเดียว (ชี้ที่หัว) ผ่าเลย”
หลักฐานในตัวสุภชีพมีเพียงบัตร นปช. สีแดงใบเดียว ซึ่งระบุไว้แต่ชื่อ-นามสกุล ไม่มีที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ ทางโรงพยาบาลจึงไม่สามารถติดต่อญาติได้
“ตอนนั้นพอเขาดึงศพออกมาพี่ก็ร้องไห้ ไปจับแขนเขา ไปดูว่าเป็นเขาจริงๆ ตอนแรกก็โกรธ คิดว่าทำไมเขาต้องไป ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เราคนเดียวจะเลี้ยงลูกโตมั้ย ไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะไปเร็วขนาดนี้ เขาก็ยังหนุ่มยังแน่นอยู่ คนตัวเบ้อเริ่ม สูงร้อยเจ็ดสิบ” น้อยเล่าเสียงเบา ดวงตาช้ำ
ขณะที่น้อยออกตามหาสามีนั้น ชื่อของ “สุภชีพ จุลทัศน์” ถูกตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสด รวมอยู่ในรายชื่อผู้เสียชีวิตแล้ว หลังกลับจากโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งดึงหนังสือพิมพ์หน้านั้นออกมาให้น้อยดู
“พอกลับมาก็มีเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมาบอกว่าแฟนพี่เสียแล้ว เนี่ยเห็นแต่ชื่อ เขาวงกลมชื่อไว้ ไม่รู้เป็นพี่ชีพรึเปล่า เพราะนามสกุลเขียนไม่เหมือนกัน หนังสือพิมพ์เขาเขียนทอรอไง (จุลทรรศน์) เขาก็เลยไม่แน่ใจ แต่ตอนที่เขามาบอกน่ะ พี่รู้แล้ว พี่เจอศพแล้ว”
น้อยบอกว่าเพื่อนคนนี้เคยทำงานล้างจานกับสุภชีพ และเคยบอกเธอว่า “พี่ชีพเขาชอบเสื้อแดงจะตาย”
5
ห่างจากบ้านหนองเข็งเข้ามาทางตัวเมืองศรีสะเกษราวสามกิโลเมตร ข้ามทางรถไฟแล้วตรงไปบนทางที่ตัดลัดทุ่งนาสีเขียวจัดในฤดูฝน ถึงหมู่บ้านที่ป้ายหน้าปากทางเข้าเขียนว่า “บ้านโพธิ์” หมู่ 1 ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
ลองถามชาวบ้านที่นั่นว่าบ้านพ่อเฒ่าที่ลูกชายถูกยิงตายตอนเสื้อแดงหลัง ไหน เขาชี้มือไปทางวัดบ้านโพธิ์ ซึ่งอยู่ติดกับร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน ผ่านวัดแล้วเลี้ยวขวา เดินเลาะเข้าไปด้านหลังร้านขายของชำราวห้าร้อยเมตร
บ้านไม้ใต้ถุนสูง เลขที่ 127 สภาพทรุดโทรม มองภายนอกดูเงียบเหงาแม้ตั้งอยู่ในกลุ่มบ้านเรือนหลายหลัง นี่คือบ้านที่สุภชีพ จุลทัศน์ วีรชนแท็กซี่ที่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมกลางเมืองปีก่อน เติบโตมา ปัจจุบันพ่อแม่วัยชราของเขาอาศัยอยู่กับน้องชายคนเล็ก
พ่อเฒ่าเสริม จุลทัศน์ วัย 65 ปี เล่าว่า เขากับนางอักษร แอนโก วัย 55 ปี แม่ของสุภชีพ มีลูกด้วยกันห้าคน สุภชีพเป็นคนโต ปัจจุบันลูกๆ แต่งงานแยกครอบครัวไปหมดแล้ว เหลือเพียงนายอนุสรณ์ จุลทัศน์ ลูกชายคนเล็กวัย 18 ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ปวช.ปีสุดท้าย ที่วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ
เดิมลูกชายคนโตของพ่อเฒ่าเสริมและนางอักษรชื่อ “สุภาพ จุลทัศน์” หลังเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เจ้าตัวไปเปลี่ยนเป็น “สุภชีพ จุลทัศน์” แต่สำหรับพ่อแม่และคนในครอบครัว เขายังเป็น “นายสุภาพ” อยู่เช่นเดิม
“แม่ยังว่าไปเปลี่ยนเฮ็ดหยัง ชื่อสุภาพก็ดีแล้ว พ่อแม่ตั้งให้ เขาบอกชื่อสุภาพมันสู้เขาบ่ได้ มันบ่ทันเขา มันสุภาพโพด” นางอักษรบ่นเรื่องการเปลี่ยนชื่อของลูกชาย
ฝ่ายพ่อเฒ่าเสริมว่าลูกชายคนนี้ของแกเป็นคนสุภาพสมชื่อ
สุภาพเป็นคนเรียนเก่ง หลังจบ ป.6 เขาอยากเรียนต่อ แต่พ่อแม่ซึ่งเป็นชาวนาที่มีที่ดินเพียง 5 ไร่ 1 งาน ทำนาแต่ละปีได้ข้าวไม่พอขาย บางปียังต้องซื้อเขากิน ไม่สามารถส่งเสียให้ลูกชายคนโตที่เป็นแรงงานสำคัญของครอบครัวเรียนต่อชั้น มัธยมได้ สุภาพออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่หลายปี จนเริ่มหนุ่ม จึงได้เข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ
แม่ของสุภาพเล่าว่า เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรก ลูกชายไปทำงานเก็บลูกกอล์ฟ จากนั้นไปเป็นพนักงานส่งรถมอเตอร์ไซค์ ก่อนไปอยู่ร้านอาหาร แล้วถึงได้ไปขับแท็กซี่ “เพิ่นมักขับแท็กซี่ มักคัก มันอิสระ บ่มีคนด่า...ก็ได้เพิ่นนี่แหละ คอยส่งเงินให้พ่อแม่ตลอด เทื่อละสองสามพัน...ก็บ่อยากได้ของเขาดอก ว่าเขามีครอบครัวแล้ว เขาก็ว่าบ่เป็นหยังดอก โทรทัศน์ก็แม่นเขานั่นล่ะ เอามาให้”
แม้ปีหนึ่งได้พบหน้ากันเพียงไม่กี่ครั้ง แต่เมื่อถามถึงความสนใจเรื่องการเมืองของลูกชาย พ่อเฒ่าเสริมตอบทันทีว่า “เพิ่นไปดนแล้ว ตั้งแต่เที่ยวก่อน เพิ่นเล่าให้ฟังอยู่ เคยซื้อแพรแดงมาให้น้องอยู่ น้องก็เอามัดหัวขี่มอเตอร์ไซค์ออกบ้าน”
ปกติสุภาพกลับบ้านปีละสองสามครั้ง ระยะหลังมีรถไฟฟรี ลูกชายคนนี้กลับมาเยี่ยมพ่อแม่บ่อยขึ้น ครั้งสุดท้ายเพิ่งได้เห็นหน้ากันก่อนเขาเสียชีวิตไม่นาน
“เทื่อสุดท้ายมางานศพญาติ ก่อนเดือนพฤษภาบ่ดนดอก ยังมากอดพ่อกอดแม่อยู่ แล้วเพิ่นก็เว้าเรื่องนี้แหละ เรื่องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย...พ่อก็แนะนำ คั้นเฮามัก เฮาก็สนับสนุนส่งเสริมไป แต่บ่ต้องไปใกล้ กลัวลูกจะไปเป็นไปตาย พ่อแม่ก็ห้ามเป็นธรรมดา เพิ่นก็ว่า คั้นเฮาบ่ไปสู้ คั้นชนะ เขาว่าเฮาอยู่ข้างหลัง ปิดทองหลังพระ ว่าไปจังซั่น”
เมื่อลูกสะใภ้โทรมาถามหาสามีของเธอในช่วงกระชับพื้นที่เมื่อปีก่อน พ่อเฒ่าเสริมกับเมียจึงได้รู้ว่าลูกชายคนโตของแกหายไปในที่ชุมนุมสามวันแล้ว
“ทีแรกคึดมั่นใจว่าบ่เป็นหยัง แต่พอมันหลายวันเข้าก็เริ่มใจหาย ก่อนหน้านั้นก็ว่าแต่รอ หมู่ที่ไปนำกันเขาว่ามันสิออกมาอยู่ พอฟังแล้วก็ดีใจขึ้นมาน้อยหนึ่ง แต่คั้นหลายวันเข้า หยังบ่มา ก็เอิ้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยลูก คั้นเสียชีวิตแล้วก็ให้เห็นศพ ได้ข่าวอีกทีก็ว่าเสียแล้ว” พ่อเฒ่าเสริมว่า
21 พฤษภาคม 2553 คือวันที่ได้รู้แน่ชัดว่าลูกชายจากไปแล้วจริงๆ แม่ของสุภชีพบรรยายความรู้สึกในขณะนั้นว่า “หัวอกพ่อแม่ คั้นลูกบ่เคยตาย บ่ฮู้ดอกว่าพ่อแม่เสียใจปานใด หัวใจมันแตกสลาย...”
ฝ่ายพ่อเฒ่าเสริมว่า “จิตใจเนี่ยบ่เป็นอันกินเลยแหละครับ ทุกเมื่อนี้ผมยังใจบ่ดี คั้นมีงานบวชมีดนตรี ผมยังน้ำตาไหล คิดฮอดลูก แม่เขายิ่งแล้ว แต่ก่อนเพิ่นนี่เห็นรูปลูกชายบ่ได้ ร้องไห้เลย...ก็อยากให้เอาคนผิดมาลงโทษ ทหารมาเฮ็ดแบบนี้บ่ถูกแล้ว บ่ว่านายพลนายพันก็กินภาษีราษฎรแม่นบ่ เฮาก็เป็นมนุษย์คือกัน”
แม้ชาวบ้านโพธิ์ส่วนใหญ่จะสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง บางคนเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุมอยู่เป็นระยะ ทว่าวันงานศพลูกชายพ่อเฒ่าเสริม กลับมีคนในหมู่บ้านมาร่วมงานน้อยมาก “คนบ้านนี้เขาย่าน บ่กล้ามา กลัวลูกหลง มีแต่คนบ้านอื่นมางาน หมู่เสื้อแดง” พ่อเฒ่าเสริมว่า ท่าทางยังสงสารลูกชาย
หลังลูกชายจากไปในสงครามประชาธิปไตย ที่บ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังเก่าของพ่อเฒ่าเสริมและนางอักษร มีป้ายหาเสียงสีแดงผืนใหญ่ติดหราอยู่หน้าบ้าน ประกาศจุดยืนทางการเมืองอย่างไม่ปิดบัง ถึงหน้าเลือกตั้ง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามไม่เคยย่างกรายเข้ามา
“บ้านอื่นเขาได้เงินกัน แต่บ้านนี้บ่ได้ดอก เขาฮู้ว่าเอามาให้เฮาก็บ่ได้เลือก” พ่อเฒ่าเสริมว่า
6
เรื่องของสุภชีพ จุลทัศน์ เป็นที่รับรู้ของผู้คนในละแวกบ้านโพธิ์และหนองเข็ง เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแล้วถามหาคนเสื้อแดงที่ถูกฆ่าตายในเหตุการณ์สลายการ ชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ชี้มือไปทางบ้านผู้ประสบเหตุได้อย่างไม่ลังเล
วันนี้ผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่หญิงหม้ายร่างเล็ก วัยไม่ถึงสี่สิบ ยังไม่อาจก้าวออกจากห้วงทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีกลาย
“ก็ยังคิดถึงเขา อยากให้เขากลับมาเหมือนเดิม มาดูแลลูกด้วยกัน มาช่วยกันทำนา เขาก็ทำนาเป็น มาปลูกผักปลูกอะไรขายก็ได้...เขามาตายมันเหมือนแขนเราขาดไปข้างหนึ่ง ทุกอย่างมันต้องช่วยเหลือตัวเอง ถามว่าพี่ลำบากไหม โคตรลำบากเลย กระสอบข้าวเราก็ยกไม่ได้ ต้องจ้างหลานยกลงมา ทุกอย่างต้องใช้เงินจ้างวานขอร้อง เราเป็นผู้หญิง พ่ออาบน้ำก็ต้องยก แล้วเราตัวเล็กมาก ยกคนเดียวก็ไม่ไหว ค้าขายในโรงเรียน เราก็ทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องช่วยกัน คนหนึ่งจัด คนหนึ่งผัด คนหนึ่งตักราด คนหนึ่งเก็บ ตอนนี้มีน้องเขยมาช่วย วันนี้ก็ให้เขาไปแล้วสองร้อยห้าสิบ ต้องให้เขา เพราะไหนจะลูกเมียเขาล่ะ เขาก็ยังต้องชักหน้าชักหลังเหมือนกัน บางวันเหลือสามร้อย สองร้อย ห้าร้อย บางวันเหลือเยอะหน่อยก็หกร้อย คือเขาห่อไปกินเหมือนกัน นักเรียนบ้านนอกน่ะ แต่จะว่าไปมันก็พอได้กิน แต่พี่มีโรคประจำตัว เกิดพี่หัวใจวายตายวันไหน ใครจะดูแลลูก ทุกวันนี้พี่ก็สู้ๆๆๆ คือมึงเป็นเป็นไป กูก็จะสู้ของกูไปอย่างงี้แหละ” น้อยกำมือทั้งสองข้างชูขึ้น พลางเน้นเสียงหนักตรงคำว่า “สู้ๆๆๆ”
หลังความตาย “นปช. สุภชีพ จุลทัศน์” กลายเป็นวีรชน มีคนเอาเงินเยียวยาจากหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้มาให้ แต่สำหรับน้อย หรือ รุ่งทิพย์ สุพิศ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทดแทนชีวิตของสามีเธอไม่ได้
“เขาได้คำชมมาว่าเป็นคนกล้า เป็นคนเก่ง มันก็ดี แต่ก็ไม่ได้ภูมิใจมากหรอก เพราะเขาตายไง ถ้าเขายังอยู่ ถึงจะเดินขาพิการก็ยังเห็นกันอยู่ แขนพิการก็ยังมีชีวิต ยังมีรอยยิ้มให้กัน แต่นี่เขาตายไปแล้ว เขาไม่มีวันกลับมาคุยกับเราอีกแล้ว”
ถึงวันนี้ หญิงที่เคยเอาแต่ก้มหน้าทำมาหากิน ไม่รับรู้ร้อนหนาวเรื่องบ้านเมืองอย่างรุ่งทิพย์ สุพิศ ได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ผ่านการตายของสามีเธอ
“ระบบแบบนี้มันโหดร้ายเกินไป สามีพี่ไปเรียกร้องความยุติธรรม ทำไมต้องได้โลงศพกลับมา เขาไม่ผิด ทำไมถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย การชุมนุมรบกวนหลายอย่างก็จริง ทำให้เดือดร้อนคนอื่น แต่เขาไม่สมควรทำรุนแรง แค่จับไปขังก็โอเคแล้ว ขังยังได้วันประกันออกมา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขาถูกขัง ไม่อยากให้เขาตาย เพราะพอเขาตาย ทุกอย่างมันพังหมด”
ฝ่ายแอม ลูกสาวคนโตของวีรชนแท็กซี่ชาวอำเภอเมืองศรีสะเกษบอกว่า เธอยังไม่อยากเชื่อว่าพ่อตายจากไปแล้วจริงๆ บางวันนั่งดูรูปพ่อยังน้ำตาไหล “ใครฆ่าพ่อ” เด็กสาววัยสิบแปดตั้งคำถาม... “คนมาเป็นพันเป็นหมื่น ทำไมต้องเป็นพ่อด้วย...ทำไมพ่อถึงต้องจากไปเร็ว หนูยังไม่ทันได้ตอบแทนบุญคุณพ่อเลย”
เราพูดคุยกับน้อยและแอม รวมทั้งพ่อเฒ่าเสริมและนางอักษร เมื่อเดือนสิงหาคม 2554
--------------------------------------------------------
บทกวีส่งท้าย
“จดหมายสั่งตาย”
เสียงปืนดัง เปรี้ยงปร้าง อยู่ข้างนอก
คว้ากระดาษ เขียนคำบอก เมียที่รัก
เมื่อเส้นความ อดทน ถูกโค่นหัก
จงแน่นหนัก หนอเมียแก้ว หากแคล้วกัน
พี่ยอมแล้ว ควักหัวใจ ถอดออกวาง
ฝันกระจ่าง ยังเพริศแพร้ว อยู่จอมขวัญ
สู้แค่ตาย ในสงคราม แห่งชนชั้น
เพื่ออนา- คตกาล ลูกหลานเรา
หากพ่อตาย ลูกอาลัย พ่อรู้หรอก
ใช่จนตรอก หาทางออก อย่างโง่เขลา
ขอลูกรู้ ว่าพ่อสู้ เพื่อพวกเรา
แม้มือเปล่า จักวิ่งท้า ห่าปืนกล
สุขสันต์ วันเกิด นะลูกรัก
เลือดในกาย พ่อแห้งผาก หากยังข้น
ให้ขี้ครอก ทั้งผู้ดี ยากมีจน
ได้เป็นคน เท่าเท่ากัน นั่นพอแล้ว!!
แด่...นปช.สุภชีพ จุลทัศน์
วีรชน 92 ศพ
http://www.prachatai3.info/journal/2011/09/37121
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น