วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปรากฏการณ์"นิรโทษ" "ค้าน"หัวคะมำ การบ้านใหญ่ ปชป.



มติชนวิเคราะห์ ...ปรากฏการณ์"นิรโทษ" "ค้าน"หัวคะมำ การบ้านใหญ่ ปชป.

มติชนออนไลน์

วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 
 



ถือว่า การทุ่มเทของพรรคประชาธิปัตย์ในการคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษ กรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในยกแรก อยู่ในอาการ "หัวคะมำ"

"หัวคะมำ" ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงที่นำมาคัดค้าน

"หัวคะมำ" ทั้งในแง่วิธีการคัดค้าน

ใน ด้านข้อเท็จจริง พรรคประชาธิปัตย์ตั้งลำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาตั้งแต่ต้น โดยพุ่งเป้าชี้กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า "เป็นคนส่วนน้อย"

เดิมทีเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นด่านแรกที่จะเข้าไปผนวกกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

เดิมทีเห็นว่า ความเคลื่อนไหวมีเจตจำนงเพื่อนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อทุกฝ่ายออกมาปฏิเสธ

พ.ต.ท.ทักษิณปฏิเสธ พรรคเพื่อไทยปฏิเสธ คนเสื้อแดงปฏิเสธ

การ ตีความ "คนส่วนน้อย" จึงพุ่งเป้าไปที่แกนนำคนเสื้่อแดง และเริ่มระบุข้อหาที่อยู่ในข่ายนิรโทษกรรมว่า รวมถึงความผิดตามมาตรา 112 กฎหมายอาญาด้วย

ข้อกล่าวหาที่ปรากฏนั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง ลุกขึ้นมาปฏิเสธในสภา

นายณัฐวุฒิแจกแจงเป็นข้อๆ โดยย้ำว่า แกนนำคนเสื้อแดงไม่ประสงค์จะได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

หากจะให้ระบุชื่อ-นามสกุล แกนนำคนเสื้อแดง เพื่อยืนยันว่าจะไม่ขอนิรโทษกรรมจากกฎหมายฉบับนี้ นายณัฐวุฒิก็ยินดี

นาย ณัฐวุฒิยังย้ำว่า จำนวนผู้ที่กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดิน มิได้มีเพียง 30 คน หากแต่มีจำนวนถึง 1,800 คน ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนเป็นร้อย

แม้หลายคนจะออกจากคุกไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีนิรโทษกรรม ประวัติการจำขังก็ติดตัวพวกเขาไปจนวันตาย

นาย ณัฐวุฒิบอกว่า บุคคลเหล่านั้นมีพฤติกรรมสุจริตมาโดยตลอด วันหนึ่งมีความคิดเห็นทางการเมืองไม่เหมือนรัฐบาล ได้สวมเสื้อแดงไปนั่งในม็อบ แล้วถูกจับกุมดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุก เฉิน

นายณัฐวุฒิย้ำว่า ชาวบ้านผู้ชุมนุมเหล่านี้แหละที่อยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรม...ส่วนแกนนำทั้งหลายขอพิสูจน์ตัวเองในชั้นศาล

นอก จากนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังนิรโทษแก่บรรดากลุ่มผู้ชุมนุมในสมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย โดยได้ยกตัวอย่างผู้ชุมนุมที่บุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีก็อยู่ในข่ายได้รับ การนิรโทษกรรม

ส่วนผู้ต้องหาในคดีความผิดมาตรา 112 นั้น ทุกคนไม่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่กำลังดำเนินการ

ข้อ เท็จจริงเบื้องต้นจึงสรุปว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ชุมนุม ไม่ได้นิรโทษกรรมให้แกนนำและผู้สั่งการแต่อย่างใด

การคัดค้านที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังดำเนินการ จึงกลายเป็นการค้านมิให้ปล่อยตัว "ชาวบ้าน" ให้พ้นจากคดี

เมื่อเปรียบเทียบกับการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ก่อปฏิวัติรัฐประหารในอดีต ดูเหมือนว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้ชาวบ้านนั้นทำได้ยากกว่ามาก

นี่เป็นจุดบอดที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องรับสภาพ

ใน ด้านวิธีการคัดค้าน เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ใช้วิธี "ระดมม็อบ" โดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์สลับกันขึ้นเวทีปราศรัย บางคนถึงขนาดบอกว่า "สู้ในสภาไม่มีทางชนะ จึงต้องออกมาสู้นอกสภา"

เมื่อบางคนเมามันถึงขนาดจะ "เป่านกหวีด" ระดมพล หรือบางคนถึงกับหลุดปากให้ถึงขั้น "ตะลุมบอน พังกันไปข้าง"

กลายเป็นมิติใหม่ของพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ที่พลิกบทบาทมา "ปลุกม็อบ" นอกสภา

แม้ ในที่สุดสถานการณ์จะคลี่คลาย พรรคประชาธิปัตย์ชักชวนม็อบให้พาไปส่ง ส.ส.เข้าสภา ใช้วิธีเจรจา และการชุมนุมอย่างสงบ ถึงขนาดบอกเป็น "ม็อบคนดี" แต่เมื่อการประชุมสภาเริ่มต้น สมาชิกของพรรคที่นำ "ม็อบคนดี" กลับส่งเสียงโห่ไล่และรบกวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัยดังขึ้นตลอดเวลา

และกว่าทุกอย่างจะกลับ เข้าสู่เนื้อหาสาระการประชุมสภาก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้น หากนับเวลาการอภิปรายในเนื้อหาของร่างกฎหมาย กับเวลาที่ต้องเสียไปกับพฤติกรรมของ ส.ส.ในสภาแล้ว...ดูเหมือนว่า การพูดถึงเนื้อหาสาระจะน้อยไป

เท่ากับว่า จังหวะการค้านของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ราบรื่นเหมือนเก่า

การเคลื่อนไหวนอกสภา ทำให้ถูกตั้งคำถามเรื่อง "ความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา"

พฤติกรรมโห่ในสภา ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของผู้ทรงเกียรติ

ขณะ ที่ฝ่ายรัฐบาลที่เดิมดูเหมือนจะเพลี่ยงพล้ำ เพราะฝ่ายความมั่นคงได้ข่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะมาถึง 7 หมื่นคน จึงประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และระดมกำลังตำรวจ 4 หมื่นนายมารับสถานการณ์

หากแต่เมื่อถึงเวลา กลุ่มผู้ชุมนุมที่มาร่วมกลับน้อยกว่าคาดมาก

ม็อบที่ฝ่ายความมั่นคงผวา กลายเป็นม็อบที่มี "มวลชน" สนับสนุนไม่มากนัก

เท่ากับว่า ชนวนที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลใช้ปลุกประชาชนนั้น ไม่มีพลังเพียงพอ

ข้ออ้างเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณที่เคยได้ผล มาคราวนี้กลับจุดไม่ติด

ข้อกล่าวหาหลายเรื่องที่เคย "กล่าวหา" สำเร็จ ดูเหมือนว่าคราวนี้จะไม่สำเร็จ

ปรากฏการณ์นิรโทษกรรมคราวนี้ จึงมองเห็นความพลั้งพลาดของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและวิธีการ

เป็นวิธีการที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้ "ค้าน" สำเร็จมาหลายครั้ง

แต่คราวนี้กลับไม่สำเร็จ...การค้านของพรรคประชาธิปัตย์กลับ "หัวคะมำ"

ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับไปปรับปรุง

ปรับปรุงทั้งข้อมูลและวิธีการ... ทำอย่างไรจึงจะทำให้การ "ค้าน" มีประสิทธิภาพ

ไม่ต้องสะดุดหกล้ม "หัวคะมำ" อย่างที่เห็นในปรากฏการณ์ "นิรโทษกรรม"




































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น