updated: 28 เม.ย 2556 เวลา 19:58:09 น.
www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1367134699&grpid=09&catid=16&subcatid=1600 นับตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475
ไม่เคยมีครั้งใดที่เกมอำนาจจะพัดพาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการเข้าสู่หนทาง DeadLock ได้มากเท่าครั้งนี้
กลายเป็นสงครามระหว่าง 2 ใน 3 เสาอำนาจแห่งระบอบประชาธิปไตยที่ต้องสู้รบปรบมือกันเอง ทางชั้นเชิงความคิด และชั้นเชิงกฎหมาย
กลายเป็นสงครามแห่งดุลอำนาจ "นิติบัญญัติ" กับ "ตุลาการ"
ฉาก สงครามเกิดขึ้นเมื่อฝ่าย "ตุลาการ" โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ "สมชาย แสวงการ" ส.ว.สายสรรหา ที่ยื่นร้องต่อศาล โดยใช้สิทธิ์ตามมาตรา 68 เพื่อให้ยับยั้งไม่ให้สภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ของรัฐสภา เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน
ท่าทีในครั้งนั้นฝ่ายนิติบัญญัติเทียบเคียงว่า ฝ่ายตุลาการได้ดำเนินการเสมือนส่งสาส์นท้ารบมาเป็นที่เรียบร้อย
โดย ศาลได้ทำสำเนาคำร้องส่งไปยัง ส.ส.-ส.ว. จำนวน 312 คน ในฐานะผู้ถูกร้องถึงประตูรั้วบ้าน พร้อมทั้งให้ทำคำชี้แจงกลับมายังศาลภายในระยะเวลา 15 วัน หากไม่ส่งคำชี้แจงถือว่า "ไม่ติดใจ"
ด้านฝ่าย "นิติบัญญัติ" อันประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.รวม 312 คน แก้เกมกลับ ยึดกลศึกกำหนดท่าทีคัดค้าน โดยมองว่า การรับคำร้องของศาลตามมาตรา 68 เท่ากับเป็นการใช้อำนาจตุลาการก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่กำลังใช้อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ปฏิบัติการตอบโต้ศาล รัฐธรรมนูญจึงเริ่มต้นทันที เมื่อพรรคเพื่อไทยอ่านแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลโดย "อำนวย คลังผา" ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)
"การที่ศาลรัฐ ธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาอาจเข้าข่ายจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ ผลของการกระทำดังกล่าวจะทำลายรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสำคัญ"
เจตนารมณ์ 2 ข้อถูกบัญญัติขึ้นดังนี้ 1.ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องผูกพันและปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การรับคำร้องโดยที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้อำนาจย่อมเป็นการกระทำที่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 97 และมาตรา 291 2.การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 ได้นั้นต้องเสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
ขณะเดียวกัน ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่ตกอยู่ในสถานะผู้ถูกร้อง ก็เตรียมวางแผน "อารยขัดขืน" ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ 2 ขั้นตอน
1.ไม่ส่งคำชี้แจงตามที่ศาลมีคำสั่ง พร้อมกับเตรียมออกแถลงการณ์อีก 1 ฉบับ ในนามฝ่ายนิติบัญญัติ ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
การ ตอบโต้ดังกล่าว มีวอร์รูมฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเป็นตัวตั้งตัวตี โดยเฉพาะการเขียนถ้อยคำในแถลงการณ์อ้างข้อกฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อชี้ให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังใช้อำนาจตุลาการก้าวล่วงอำนาจฝ่าย นิติบัญญัติอย่างไร
โดยคนวงในที่ลงคลุกกับทีมกฎหมายพรรค เพื่อดูรายละเอียดทุกวรรค ทุกตัวอักษรในแถลงการณ์ ร่วมกับทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และฝ่าย ส.ว.เลือกตั้ง คือ "โภคิน พลกุล" อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
แหล่งข่าวจากทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยคาดการณ์ว่า การร่างแถลงการณ์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จและประกาศต่อสาธารณะได้ราวต้นเดือนพฤษภาคม
2.ในเบื้องต้นมีการเตรียมยื่นถอดถอนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็น เสียงข้างมากรับคำร้องนายสมชาย จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายจรูญ อินทจาร, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รวมถึงรอดูกระบวนการพิจารณาคดีในบรรทัดสุดท้ายด้วยว่าคำวินิจฉัยจะออกมาเป็น "ลบ" หรือเป็น "บวก"
หากตุลาการคนใดมีคำวินิจฉัยส่วนตนเป็นลบ ก็จะถูกยื่นถอดถอนรวมกับตุลาการ 3 คนแรก เพียงแต่เวลานี้การกระทำความผิดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สำเร็จ ทางฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยจึงต้องหยั่งท่าที-ดูเชิงไปก่อน
ขณะเดียวกัน ยังเตรียมใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มายื่นฟ้องตุลาการคู่ขนานกันไปด้วย
เป็นการเอาผิดทั้งแง่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง คู่ขนานกับการเอาผิดทางอาญา
แม้ ฝ่ายนิติบัญญัติเตรียมวางแผนหาทางออก ดูทางทีหนีทีไล่ไว้ครบทุกประตู แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าในตอนจบ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร จึงทำให้ ส.ส.และ ส.ว.บางส่วน ถึงขั้นหวาดกลัวอำนาจฝ่ายตุลาการ
บาง เสียงในวอร์รูมฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเสนอไอเดียว่า ที่ประเมินจากสถานการณ์ขั้น "เลวร้ายที่สุด" ว่าควรชิงลงมือปิดเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้เร็วที่สุด เพื่อปิดช่องทางไม่ให้ศาลใช้อำนาจคุกคามเหมือนครั้งที่เบรกการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ยังคาการลงมติในวาระ 3 จนถึงวันนี้
ไม่เพียงยุทธการจากฝ่ายนิติบัญญัติใช้ตอบโต้กับอำนาจตุลาการเท่านั้น หากยังมีการเล่นเกมมวลชนมากดดันศาลรัฐธรรมนูญในคราวเดียวกัน
ทั้งในรูปของการชุมนุมกดดันบริเวณด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒนะ
ทั้งการเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
รวม ถึงการระดมกำลังจัดเวทีปราศรัยทั่วประเทศ โดยขนขุนพล ส.ส.มนุษย์พันธุ์พิเศษทุกประเภท ทั้งบู๊-บุ๋น-ฮาร์ดคอร์เดินสายฉายภาพให้ชาวบ้านเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของสภา กำลังถูกอำนาจตุลาการก้าวล่วง โดยเวทีเริ่มต้นที่จังหวัดอุดรธานี อันเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังไฟเขียวให้ ส.ส.จัดเวทีปราศรัยย่อยลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าในนามพรรคหรือในนามส่วนตัว โดยเฉพาะ ส.ส.เสื้อแดงหลายคนเตรียมตั้งเวทีปราศรัยในพื้นที่เขตเลือกตั้งของตัวเอง
ดัง นั้น หากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นลบกับพรรคเพื่อไทย มวลชนเสื้อแดงก็จะถูกปลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้พรรคเพื่อไทยทันที
ขณะ ที่ศาลรัฐธรรมนูญก็เตรียมยุทธวิธีตอบโต้ โดย "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ สั่งการคณะทำงานรวบรวมหลักฐานการชุมนุมทั้งหมด เพื่อเดินเกมฟ้องกลับผู้ชุมนุมในข้อหาหมิ่นศาล
"วสันต์" เทียบเคียงเคสตัวอย่างในอดีต กรณีถูกนางกรองทอง ทนทาน หรือดีเจป้อม จังหวัดอุดรธานี ด่าทอดูหมิ่น ครั้งมีการชุมนุมหน้ารัฐสภา
"ส่วนตัว ก็ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวมากกว่า ตอนดีเจป้อม ผมก็ฟ้องศาลอาญาใน 4 ข้อหา ในฐานะดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยการโฆษณา โดยใช้ทนายจากสำนักงานทนายของคนพรรคเพื่อไทย คือสำนักงานทนายนิติทัศน์ศรีนนท์"
"ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ประทับรับฟ้อง นางกรองทองก็ยื่นขอประนีประนอมจะขอขมา ศาลสั่งเลื่อนไปพิจารณาในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับคำขอขมาหรือเปล่า ดังนั้น ที่ชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานอยู่ขณะนี้ ก็กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ ผมตามเก็บหมด ไม่ฟังเสียงหรอก"
ด้านความเคลื่อนไหวฝ่ายพรรคประชาธิ ปัตย์ (ปชป.) ฝั่งสนับสนุนศาล-คู่ขัดแย้งเบอร์หนึ่งของพรรคเพื่อไทย ก็เริ่มดำเนินการกระชากหน้ากากผู้ก่อการตัวจริงออกมาตีแผ่ให้ประชาชนรับทราบ
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค เปิดเผยทุกครั้งที่ถูกถามความเห็นถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญว่า "ประชาชนต้องให้กำลังใจตุลาการ หากรัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งด้วย ก็ต้องออกมาทำหน้าที่ตัวเอง ออกมารักษาความสงบบ้านเมือง"
"ไม่ว่า กลุ่ม ส.ส. ส.ว. และคนเสื้อแดงจะใช้สิทธิ์อะไรก็ตาม รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้ ฉะนั้น หากยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็ต้องแสดงท่าทีว่ายังรักษากฎหมาย อำนวยความสะดวกให้กับศาลรัฐธรรมนูญ"
"ปัญหา คือถ้าเรายอมจำนนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับศาลตอนนี้หรือไม่ มีการชุมนุม มีการกดดัน ถ้าเรายอม ต่อไปนี้ทุกอย่างในบ้านเมือง ก็เป็นเรื่องของใครมีกำลังมากกว่า มีพวกมากกว่า ก็สามารถที่จะทำอะไรได้ตามใจชอบ ไม่ต้องสนใจกฎกติกา"
นอกจากนั้น ทีมกฎหมาย ปชป.ยังประเมินว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการ "ล้ำเส้น" ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่จากฝ่ายตุลาการตามที่ถูกโจมตี เพราะสุดท้ายรัฐธรรมนูญยังคงให้อำนาจศาลไว้ชัดเจนแจ่มแจ้ง
นำมาซึ่ง การแสดงจุดยืนในทิศทางเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผล 2 ข้อ เพื่อเรียกร้องให้ ส.ส.+ส.ว. 312 คนไปชี้แจงต่อศาลตามกระบวนการยุติธรรม
1.การ ไปยื่นคำชี้แจง ไม่ถือเป็นการยอมรับผิด แต่เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ที่สุดท้ายผลลัพธ์ยังคงขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาล มิได้ขึ้นอยู่กับท่าทีในการเดินทางชี้แจง
เคสตัวอย่างในอดีตจึงถูกยก ขึ้นมาจากกรณีที่ "อภิสิทธิ์" ถูก "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" อดีต ส.ว.สรรหา เคยขอให้ศาลพิจารณาว่า การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
"ใน วันนั้นแม้พรรคจะประเมินแล้วว่า สิ่งที่ดำเนินการไปไม่ผิดกฎหมาย แต่ท่านอภิสิทธิ์ก็เดินทางไปชี้แจง ไปรับฟังข้อกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งท้ายที่สุดศาลก็วินิจฉัยว่าท่านไม่ผิด มันก็แสดงให้เห็นว่า การไปชี้แจงต่อศาล ไม่ได้หมายความว่ายอมรับว่าผิดตั้งแต่ต้น"
2.ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ยังมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น การไม่ดำเนินการตามขั้นตอน ก็มีความหมายว่าฝ่าฝืนกฎหมายเช่นกัน
"ถ้า พรรคเพื่อไทยจะไม่ฟังคำสั่งศาล ตัดสินใจดำเนินการต่อ ศาลก็ยังถือว่ามีอำนาจในการวินิจฉัยตามขั้นตอนได้ หากคำวินิจฉัยสุดท้ายบอกว่าผิด ทั้ง 312 คนก็ต้องผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550"
ทีม กฎหมายจึงมองเกมไปไกลกว่าเดิม สร้างสมมติฐานสงคราม 2 ขาอำนาจ จากขาหนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยพรรคเพื่อไทยยังตัดสินใจเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญขาที่สอง ฝ่ายตุลาการ ยังเดินหน้าวินิจฉัยตามคำร้องดังกล่าว
ผลลัพธ์สุดท้ายจึงถูกสรุปออกมาว่า ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ-ตุลาการ ต่างต้องทำงานในมุมมองของตนแข่งกับเวลา
หาก ฝ่ายตุลาการดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จก่อน กระทั่งมีคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำที่เป็น "โทษ" ย่อมเป็นผลลบให้แก่ผู้ร่วมก่อการทั้ง 312 คน
หากฝ่าย นิติบัญญัติ-เพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 68 ที่พาดพิงถึงอำนาจศาลเสร็จสิ้นก่อน ย่อมไม่เป็นผลดีกับฝ่ายตุลาการ
"สิ่ง ที่เพื่อไทยต้องการปิดเกมเร็ว เพราะการแก้ไข ม.68 จะลดทอนอำนาจบางอย่างออกไป และเมื่อฝ่ายตุลาการเร่งไต่สวน วินิจฉัยเรื่องทั้งหมดไม่ทัน สุดท้ายสิ่งที่เคยถูกศาลมองว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็อาจจะไม่มีประโยชน์"
เมื่อทั้งศาลรัฐธรรมนูญ-เพื่อไทยมีความเห็นที่แตกต่าง จุดยืนที่แตกแยก
การดำเนินการ 2 ขาอำนาจ จำต้องดำเนินการแข่งกับเวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้
เพราะผลลัพธ์สุดท้าย มีพิษสงร้ายแรงต่อฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น ใครถึงเส้นชัยก่อน โอกาสชนะก็มีสูง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น