Mon, 2011-06-20 10:53
จัดหนัก...ปฏิกิริยาและข้อโต้แย้งจำนวน16ข้อที่มีต่อบทความ จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 5 จากกรรมกรหญิงผู้ให้กำเนิดสมญานามใหม่ของนายกรัฐมนตรี"ดีแต่พูด"
จดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 19 มิถุนายน 2554 เรื่อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ดีแต่พูด” เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดิฉัน ขอแนะนำตัวก่อน ดิฉันเป็นคนที่เสียภาษีและไปเลือกตั้งทุกครั้งและร่วมแสดงความเห็นทางการ เมืองและรวมกลุ่มกันมาตลอด ช่วงที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยหรือนักการเมือง ข้าราชการ นายทุนเข้ามากดขี่ แสวงหาผลประโยชน์จากคนจนๆอย่างพวกเรา ในวันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปี เดือน พอดี ดิฉันได้ไปร่วมกิจกรรมรำลึกถึงวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์รัฐบาลสั่งให้ สลายการณ์ชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และมีผู้หญิงและเด็กด้วย กลับมาดิฉันได้อ่านจดหมายของคุณ”จากอภิสิทธิ์ฉบับที่ 5 “ผมไม่ได้ดีแต่พูด” มันทำให้ดิฉันจำเป็นต้องตอบจดหมายเพราะพาดพิงถึงดิฉันโดยตรงว่า”กระบวนการ นี้เริ่มจากการให้คนเสื้อแดงไปชูป้ายที่งานวันแรงงานที่องค์กรเอกชนจัดขึ้น เพื่อ ให้ ส.ส.เพื่อไทยเอาไปขยายผลในสภาและการสร้างกระแส ” เพราะคนแรกที่ถือป้ายคือดิฉันร่วมกันกับเพื่อนๆ อดีตคนงานไทรอัมพ์ฯ ที่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง และถูกอดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานซึ่งอยู่พรรคเดียวกะคุณขณะนั้นได้เอาจักร เย็บผ้าที่มีผู้บริจาคมาให้กับคนที่ถูกเลิกจ้างไปถึง 150 ตัว อะไร บ้างที่เป็นแรงบันดาลใจที่ดิฉันต้องมาถือป้ายให้คุณในวันงานเสวนา “100 ปีวันสตรีสากล”ที่จัดโดยกลุ่มบูรณาการสตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดิฉันได้ชี้แจงไปหลายครั้งแล้วผ่านสื่อต่างๆ แต่คุณคงไม่มีเวลาอ่านและทำความเข้าใจและได้วิเคราะห์ว่าปรากฎการณ์ที่เกิด ขึ้น เกิดจากตัวของคุณเอง ไม่ได้เกิดจากคนถือป้ายคนแรก แต่คุณมักจะโทษคนอื่นเสมอ จดหมายฉบับนี้ที่ดิฉันเขียนถึงคุณโดยตรงเพื่อ ให้คุณได้เกิดหูตาสว่างบ้างว่าประชาชนคนทั่วไปเขาคิดเองได้มีสติ มีสมองกันทุกคนที่เขาตั้งคำถามหรือเตือนสติคุณต้องกลับเอาไปคิด ไปใช่ท่องอยู่ตลอดเวลาว่าคนเหล่านี้ทำอะไรก็เป็นแผนของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรง ข้าม แล้วเมื่อไหร่คุณจะได้รู้ข้อเท็จจริงซะทีว่า ประชาชนคนไทย ยากดีมีจนเขาคิดเองได้แล้ว หวังว่าคุณคงรู้แล้วว่า"คนไทยไม่ได้เดินทางด้วยเกวียนและไม่ได้กินหญ้า" ดิฉันยกป้าย “ดีแต่พูด”ให้คุณเพราะอะไร คุณกรุณาอ่านด้วยความตั้งใจ วันที่ 6 มีนาคม 2554 ดิฉันถูกเชิญไปเป็นผู้ร่วมเสวนาเวทีเดียวและหัวข้อเดียวกันกะคุณ และเคยชี้แจงผ่าน FBไปแล้วว่าได้กลับมาเขียนเฟชบุ๊คส่วนตัว”วันนี้ฉันเผชิญหน้า ผู้ชายคนหนึ่ง ฉันโกรธ ฉันตะโกนออกไป ฆาตกร ฆาตกร ไม่มีใครได้ยินเสียงฉัน เพราะบนเวทีเขากำลังหน้าบานกันดีใจ ซึ่งคนละอารมณ์กับฉัน ฉันอยากร้องไห้ เมื่อฉันนึกถึงพี่น้องเสื้อแดงที่ถูกฆ่าตาย "ฉันตะโกนอีกครั้ง "มือเปื้อนเลือด" ฉันหยิบปากกาเมจิก เอากระดาษA4 (คือแถลงการณ์ของงานวันนั้น)ใช้ด้านที่ว่างเขียนว่า "มือใคร?" ฉันเอามือฉันทาบลงไปแล้วเขียนตาม ฉันค้นหาปากกาเมจิกสีแดงเพื่อทาเป็นสีเลือด ฉันถามคนอื่นไม่มีใครมี ฉันรีบตัดสินใจเขียนว่า "เปื้อนเลือด"ไปบนฝ่ามือ ฉันเขียนสองแผ่นประกบกันแล้วพับมุมนั้นมุมนี้ ในขณะนั้นมันกำลังให้ นโยบายเกี่ยวกับวันสตรีสากล ฉันชูกระดาษขึ้น มันตอบมาทันที ว่าวันนี้วันสตรีไม่เกี่ยวกับการเมืองให้ฟังว่าใครมือเปื้อนเลือดชี้แจงใน สภา ฉันชูป้ายเด็ดสำหรับฉัน"เหรอ...." และตามด้วย "ดีแต่พูด" ฉันถูกกีดกันจากตำรวจ เพื่อแย่งแผ่นป้าย ฉันถาม แผ่นป้ายมีปัญหาอะไรเหรอ"...,ดีแต่พูด,มือใคร?เปื้อนเลือด" มันมีปัญหาตรงใหน ด่าใคร หยาบคายหรือเปล่า ตำรวจบอก ว่ามือใคร?เปื้อนเลือด ฉันถามว่าแล้วเปื้อนจริงเหรอถึงเดือดร้อน และเพื่อนของฉันก็ชูป้าย "ดีแต่พูด"ขึ้นด้านหน้าฉันขึ้นไปอีกสามแถว จึงกลายเป็นเหตุให้การเตรียมการพูดตั้งแต่ 11.30 น.-13.15น.ต้องยุติลงเลย เที่ยงเล็กน้อย เราไม่ได้สบตากันเลยระหว่างฉันกับผู้ชายคนนั้นเพราะ เขาหลบหน้าฉัน รีบหนีฉันไปและให้ตำรวจกักตัวฉันกับเพื่อนๆไว้ เกือบครึ่งชั่วโมง ฉันไม่มีเรื่องโกรธเกลียดกันเป็นการส่วนตัว แต่ฉันไม่ชอบระบบที่เขาใช้อยู่ฉันต้องการระบบประชาธิปไตย คนเท่ากันหนึ่งคน หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง ทุกสถาบันตรวจสอบได้ ฉันไม่ต้องการคนดี คนหล่อ ฉันต้องการการตรวจสอบเปิดเผย โปร่งใส” ต่อไปคือความในใจที่ฉันคิดว่าป้ายนี้เหมาะสำหรับคุณคือ “คนดีแต่พูด” และไม่รู้ว่าคุณยังจะจำในสิ่งที่พูดได้หรือเปล่า 1."เมื่อ มีประชาชนเพียง 1 คน หรือแสนคน มาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัวเองนั้น ไม่ได้ขัดหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้ามีข้อสงสัยว่าการบริหารประเทศนั้นละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิประชาชน หรือทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่รอให้กฎหมายจัดการ แต่จะมีสำนึกความรับผิดชอบทางการเมือง" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 31 ส.ค.51 @สภาผู้แทนฯ 2. "..ยุบสภาจะเป็นการรับผิดชอบ ทำเถอะเพื่อบ้านเมืองสงบสร้างบรรทัดฐานที่ดีเถอะครับ.." อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 31 ส.ค.51 @สภาผู้แทนฯ 3. "ผมไม่นึกไม่ฝันว่าเรามีรัฐที่ได้ทำร้ายประชาชนถึงขั้นเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสแล้ว เรายังมีรัฐที่พยายามยัดเยียดความผิดกลับไปให้ประชาชนอีก เป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้ครับ" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 9 ตุลา 51 @ที่ทำการพรรค ปชป 4. "เพื่อพิสูจย์ความจริงใจ ท่านต้องสั่งย้ายตำรวจที่ให้ร้ายประชาชนออกไปให้หมดก่อนครับ ถ้าท่านจะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง(กรณี 7 ตุลา 51)" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 9 ตุลา 51 @ที่ทำการพรรค ปชป 5. "ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชน ถูกทำร้ายจากภาครัฐแล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่มี" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 9 ตุลา 51 @ที่ทำการพรรค ปชป 6. "ต้องมีคนรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนครับ" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 9 ตุลา 51 @ที่ทำการพรรค ปชป 7. "ประเทศไทยเป็นสังคมเปิด ซึ่งเคารพและเชื่อมั่นในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น.." อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามนายซาลิล เชตตี้ เลขาธิการองค์กรนิรโทษกรรมสากลเนื่องในโอกาสเข้าพบ เมือวันที่ 10 พ.ย. 53 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 8. "..สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันซึ่งทั้ง ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างสามารถเข้าถึงสื่อและหนังสือพิมพ์ รวมถึงทีวีสาธารณะและเคเบิ้ลทีวี เป็นสภาพการณ์ที่แตกต่างจากอดีต.." อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามนายซาลิล เชตตี้ เลขาธิการองค์กรนิรโทษกรรมสากลเนื่องในโอกาส...เข้าพบ เมือวันที่ 10 พ.ย. 53 ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 9. "... ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ..." อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 29 ธ.ค.53 10. "ผู้นำทั้งหลายควรจะเคารพต่อความต้องการของประชาชน" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 29 มค 54 11. "การเลือกตั้งจะช่วยคลี่คลายปัญหาและแก้วิกฤติชาติ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 8 กค 50 12. "เสริมสร้างสันติภาพของการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน" (จาก นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงต่อรัฐสภา เมื่อ 30 ธันวาคม 2551 @ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ) 13. “แม้พันธมิตรฯจะทำผิด แต่รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายประชาชน” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ขณะนั้น) 9 ตุลาคม 2551 ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาล(สมชาย)รับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลา 51 14. "ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัว ของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ" (จาก นโยบายความมั่นคงของรัฐ ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงต่อรัฐสภา เมื่อ 30 ธันวาคม 2551 @ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ) 15. "ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน" (จาก นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงต่อรัฐสภา เมื่อ 30 ธันวาคม 2551 @ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ) 16. "ให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี" (จาก นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงต่อรัฐสภา เมื่อ 30 ธันวาคม 2551 @ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ) ก่อนที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณแถลงนโยบายเร่งด่วนว่า อันดับแรก คือการชะลอการเลิกจ้างที่เกิดจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลก็ไม่ได้ชะลอเลย กลับไปส่งเสริมการลงทุนให้นายทุนขยายกิจการแต่เลิกจ้างคนงาน ส่วนโครงการต้นกล้าอาชีพก็ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนงานเหมือนกัน คนงานเย็บผ้าที่ถูกเลิกจ้าง แทนที่คุณจะต้องต่อยอดความสามารถเดิมที่เขามี กลับไปแนะนำให้เขาชงกาแฟ ไปเป็นหมอนวดแผนไทย ส่วนการขายกาแฟก็ต้องมีงบประมาณเบื้องต้นถึง 5 หมื่นบาท นั่นหมายความว่าแก้ปัญหาไม่ได้ อันนี้ตอบคำถามคุณที่ถามพูดเหน็บแนบ ว่าคนชูป้ายสงสัยลูกหรือญาติไม่ได้เรียนหนังสือ จะเรียนกันไปได้ยังไงมาดูก็แล้วกัน โครงการเรียนฟรี รัฐบาลบอกว่าเรียนฟรี 15 ปี เป็นความภูมิใจของคุณมากๆ ซึ่งจริงๆ แล้วโครงการนี้มันไม่ได้เรียนฟรีจริงๆ เป็นเพียงการแบ่งเบาภาระผู้ปกครองเท่านั้น เปิดเทอมครั้งหนึ่งได้เงิน 900-1,200 ซึ่งมันไม่พอกับค่าชุดนักเรียน ชุดลุกเสือ ชุดกีฬา ด้วยซ้ำ เราไม่สามารถเอาเงินพวกนี้ไปเรียกว่าเรียนฟรีได้ เพราะแม้แต่ชุดนักเรียนดีๆ สักชุดยังซื้อไม่ได้เลย อีกนโยบายคือ 90 วันแก้ปัญหาชายแดนใต้ เอาเข้าจริง 2 ปี ปัญหาชายแดนใต้ไม่ได้ดีขึ้นเลย ซ้ำยังหนักว่าเดิม นโยบายค่าจ้าง ครั้งแรกบอกว่าค่าจ้างที่พอกับการครองชีพ คือวันละ 250 สุดท้ายก็เพิ่งปรับเมื่อเดือน พ.ค. ก็ได้แค่ 215บาท ความเห็นของนายกเมื่อพูดออกมาแล้ว ทำไมถึงทำไม่ได้ จะไม่ให้เรียกว่าดีแต่พูดได้อย่างไร พอมีแนวโน้มจะยุบสภาก็ออกมาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 พวกเราฟังแล้ว ก็คิดว่า ทั้งๆ ที่คุณเป็นรัฐบาล สัญญาก่อนหน้าคุณยังทำไม่ได้เลย แล้วยังจะมาหาเสียงแบบนี้อีก ข้อนี้ขอถามว่าในเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าคนที่ชูป้ายดีแต่พูดในงาน วันสตรีสากล ไม่เข้าใจรากเหง้าของประชาธิปไตย ดิฉันถามว่าถ้าถือป้ายอย่างสงบ ไม่เป็นประชาธิปไตย สะท้อนว่าที่ผ่านมาอย่างยาวนานของพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เข้าใจว่าอะไรคือ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเรียนมาให้คุณได้ คิด ไตร่ตรอง ใช้สติในการพูดเขียน ให้มากขึ้นอะไรทำไม่ได้ไม่ต้องพูด อะไรไม่ใช่เรื่องจริงไม่ต้องเขียน และคุณต้องยอมรับที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ คนที่เป็นบุคคลสาธารณะคือคนที่ก้าวเข้ามาเป็นนักการเมือง ได้ใช้ภาษีของประชาชน บุคคลเหล่านี้ต้องวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้ ถ้าคุณไม่ต้องการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องการถูกตรวจสอบ คุณก็ต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารเงินภาษีประชาชน และไม่มาเสนอตัวเป็นนักการเมือง หรือผู้บริหารประเทศ ด้วยความเคารพ จิตรา คชเดช ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศของคุณและถือป้ายดีแต่พูดคนแรก หมายเหตุ: ขอขอบคุณ 16 ข้อ ดีแต่พูด รวบรวมโดยคุณเทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ |
http://www.prachatai3.info/journal/2011/06/35556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น