วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

Me and My Country (1) : Thaksin Shinawatra เบื้องหลังการเจรจากับญี่ปุ่นในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ























Me and My Country (1)
Thaksin Shinawatra

เบื้องหลังการเจรจากับญี่ปุ่น
ในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

ผมขอเริ่มตอนที่หนึ่งโดยการเล่าเรื่องเบื้องหลังการเจรจากับญี่ปุ่นในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิครับ

ปี 2544 ผมได้ประกาศว่าจะยกเลิกการประกวดราคาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งประกวดราคาโดยรัฐบาลก่อนเป็นวงเงิน 54,000 ล้านบาทเศษ โดยออกแบบรองรับผู้โดยสารได้ 35 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นผมเห็นว่าแพงและจำนวนผู้โดยสารที่รองรับได้น้อยไป เกรงจะไม่พอ เปิดปุ๊บก็ต้องเต็มปั๊บ ทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในขณะนั้นก็วิ่งมาพบผมและขอคัดค้านเพราะเรากู้เงิน JBIC อยู่ โดยบอกว่าจะยกเลิกเงินกู้

ผมก็นั่งคิด เนื่องจากเรายังไม่พ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ ก.ค. 40 แต่ถ้าเรากลัวไม่ได้กู้เงิน เราก็ต้องสร้างสนามบินที่แพงเกินจริงและรองรับผู้โดยสารได้น้อยเกินไป เพราะจะสร้างใหม่ทั้งทีอุตส่าห์รอกันมาตั้ง 40 ปี ขณะนั้นผมอ่านออกว่าทูตญี่ปุ่นกลัวว่าประกวดราคาใหม่บริษัทญี่ปุ่นจะไม่ชนะประมูล เรื่องการไม่ให้กู้เงินคงจะไม่จริง

ผมก็เลยบอกไปว่าผมจำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและแก้แบบใหม่ให้รองรับผู้โดยสารจาก 35 ล้านคนเป็น 45 ล้านคน ถ้าญี่ปุ่นไม่ให้กู้ก็ไม่เป็นไร ผมใช้เงินแบงค์กรุงไทยกับแบงค์ออมสินก็ได้ ผมก็เลิกการประมูล แก้แบบเป็น 45 ล้านคน และให้มีการประมูลใหม่

ผลปรากฎว่าราคาลดลงจาก 54,000 ล้านบาท เป็น 36,666 ล้านบาท ประหยัดไป 17,000 ล้านบาทเศษ พร้อมกับรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 10 ล้านคน จาก 35 เป็น 45 ล้านคน ซึ่งขนาดเพิ่มแล้ววันนี้หลังจากเปิดไม่กี่ปีก็เต็มแล้ว ทั้งๆที่ไปใช้ดอนเมืองด้วย

และในที่สุด ท่านทูตญี่ปุ่นคนเดิมก็กลับมาขอร้องให้เราใช้เงินกู้ JBIC ต่อไปเหมือนเดิม (การเจรจาต้องรู้ความต้องการของเขาและของเรา)

ถ้าท่านจำได้ช่วงผมเป็นนายกฯใหม่ๆ ผมได้ประกาศว่าไทยจะไม่ยอมกู้เงินนอกเด็ดขาดยกเว้นสัญญาที่มีอยู่เดิม ทั้งๆที่ตอนนั้นเรามีเงินสำรองอยู่ 27-28 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่เรามีหนี้ต่างประเทศมากกว่าเงินสำรองเรามาก รวมทั้งหนี้ IMF ถึง 12,000 ล้าน

ผมเข้าใจโลกทุนนิยมดีครับ มันเปรียบเสมือนว่าเมื่อแดดออก มีแต่คนจะเอาร่มมาให้เราถือเต็มไปหมดทั้งๆที่เราไม่ต้องใช้ แต่ยามฝนตก เราอยากได้ร่มสักคันก็ไม่มีใครให้ยืม เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างคำว่า Trust & Confident ให้ได้ เงินถึงจะมา

ผมเลยใช้นโยบายว่า กัดฟันไม่กู้เงินนอกเท่านั้น ต่างประเทศก็เริ่มมั่นใจขึ้น เงินต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาประกอบกับการปรับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นให้สอดคล้องกัน ทำให้พ่อค้านำเข้าและส่งออกที่เก็บเงินไว้ต่างประเทศก็เริ่มนำกลับเข้ามา เสถียรภาพเงินบาทก็แข็งขึ้น เงินสำรองก็มากขึ้นจนเราสามารถใช้หนี้ IMF ได้ ซึ่งตอนเกิดวิกฤตตอนเราต้องยืมเงิน IMF ทุกคนก็คิดว่าต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปีกว่าจะใช้หนี้ได้

ตอนที่ผมตัดสินใจใช้หนี้หลายคนก็ห้ามผมว่าทำไมต้องรีบใช้ เดี๋ยวเงินสำรองจะพร่องมากไปไม่พอใช้ บังเอิญผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก ผมก็เลยสั่งให้ใช้หนี้ทั้งหมดทีเดียว หม่อมอุ๋ยขอต่อรองเป็นอีก6 เดือน ผมก็เลยบอกว่าผมประกาศเลยนะว่าอีก 6 เดือนจะชำระ

ก็เลยเกิดการชำระหนี้ IMF ก่อนครบกำหนดถึง 2 ปี ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดีขึ้นมาก เงินก็เริ่มไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนเรากลายเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็น Net Creditor Nation คือเป็นประเทศที่มีเงินฝากเป็นเงินตราต่างประเทศมากกว่าเงินกู้ต่างประเทศ โดยรวมตัวเลขทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้วย เป็นครั้งแรกของไทย

สรุปก็คือว่าถ้าเรามียุทธศาสตร์การเงินและการทำงานที่ควบคู่กันได้ดี เราจะสร้างTrust & Confident ให้กับองค์กรของเรา(ซึ่งในที่นี้ก็คือประเทศ) แล้วเราจะเติบโตได้ เพราะจะมีเงินทุนเข้ามาให้เราได้ใช้บริหารและสร้างรายได้อย่างไม่จำกัดครับ วันนี้เอาเท่านี้ก่อนครับ













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น