วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ข้อพิจารณาเรื่อง สถานการณ์การเมือง และความคืบหน้า 'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม'

ที่มา : Thai E-News



ข้อพิจารณาเรื่อง สถานการณ์การเมือง และความคืบหน้า 'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม'


โดย กานต์ ยืนยง
ใน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองโดยทั่วไปไม่ร้อนแรงอย่างที่คาดคิด เพราะประชาชนทั่วไปไม่ได้ให้ความสนใจมาก คิดว่าเพราะสาเหตุหลักคือเบื่อหน่ายความขัดแย้ง (ดูสวนดุสิตโพล[1]) ทั้งเผอิญมีข่าวที่น่าสนใจเข้ามาในจังหวะเดียวกัน คือ การเยือนเมืองไทยของทีมบาร์เซโลนา และการแต่งงานระหว่าง เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ วัย 32 ปี และหนุ่มใหญ่นักการเมืองชื่อดังวัย 45 ปี เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม


           ในขณะที่ปัจจัยภายในของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล-ทักษิณนั้น ได้แตกออกเป็นสามกลุ่ม คือกลุ่ม (1) กปท. (กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ) และคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ซึ่งมีการชุมนุมมวลชนที่เวทีสวนลุมพินี, (2) เวทีผ่าความจริงพรรคประชาธิปัตย์ และ (3) พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งยังอยู่ในที่ตั้ง การที่มีการแบ่งมวลชนออกไปหลายกลุ่ม และไม่มีการดำเนินการที่เป็นเอกภาพกันจึงทำให้ทอนกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลง ไปมาก
            นอกจากนี้ท่าทีที่ไม่ชัดเจนในการดำเนินการทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ว่าจะใช้การเมืองนอกสภา หรือในสภาในการต่อสู้ทางการเมือง จึงทำให้มีลักษณะกลับไปกลับมา ซึ่งเมื่อมองจากปีกการเมืองสายปฏิรูปของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งน่าจะมีกำลัง อยู่ไม่น้อยแต่แสดงออกผ่านทางท่าทีของ คุณอลงกรณ์ พลบุตร ก็น่าจะมองได้ว่าการแสดงออกดังกล่าวมีทิศทางที่ก้าวร้าวและไม่สนับสนุนระบอบ ประชาธิปไตย ในขณะที่ปีกการเมืองอีกสายหนึ่งก็คงจะมองว่าการแสดงออกดังกล่าวไม่เข้มแข็ง และไม่มีลักษณะแตกหักดังที่ควรจะเป็น คุณอภิสิทธิ์และเครือข่ายนักการเมืองรุ่นใหม่ที่รายล้อมเขาอยู่ก็เลือก เหมือน ๆ ที่เคยเลือกมาคือเอียงไปทางปีกการเมืองที่ต้องการ “ชน” กับรัฐบาล
 อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาลอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ก็คงจะไม่เป็นผลดีกับ คุณอภิสิทธิ์ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์มากนัก
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้อง และญาติผู้ตายทั้งหกคน อันประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ตายที่ 1 และที่ 3-6 ถึงแก่ความตายเพราะถูงยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้า และผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มมม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่บนถนนพระรามที่ 1 จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายที่ 1- 6 ถึงแก่ความตายในวัดปทุมฯ เวลากลางวัน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เหตุและพฤติกรรมที่ตาย เนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนมาจากเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณระหว่างถนนพระราม 1 และหน้าวัดปทุมฯ ในการควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศอฉ.เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจเสียโลหิตปริมาณมาก[2]

            ในทางการเมือง นี่จะทำให้ผู้รับผิดชอบต่อคำสั่งในขณะนั้น  ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธาน ในขณะนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบทางการเมืองได้ยาก ปัจจัยนี้คงจะเป็นตัวแปรหนึ่ง ที่ทำให้เอาเข้าจริงแล้วแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ ยังต้องชั่งน้ำหนักในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่าจะ “ชน” กับรัฐบาลอย่างเต็มตัวหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันต้องยอมรับว่าโมเมนตัมของฝ่ายต่อ ต้านรัฐบาลยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการเคลื่อนไหวมากนัก
สำหรับการตอบโต้ของรัฐบาลที่ผ่านมามีทั้ง (1) การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (นายกรัฐมนตรีได้สั่งยกเลิกไปแล้ว) ทำให้มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดเส้นทางโดยรอบรัฐสภา (2) การออกคำสั่งห้ามกดไลค์ ห้าม แชร์ บน social media ของ กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ หรือแม้แต่ (3) การไม่ถ่ายทอดสดการอภิปราย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสภา เป็นต้น มาตรการเหล่านี้คงพอจะประเมินได้ว่ารัฐบาลมีความกังวลกับสถานการณ์มากเกิน จริง จนทำให้มองได้ว่ามีการออกมาตรการที่เกินจำเป็นกว่าสถานการณ์ออกมาใช้ แต่อย่างไรก็ตามอาจเป็นผลมาจากการข่าวกรองภายในของรัฐบาลที่ไม่เป็นที่เปิด เผยก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงคือ ฝ่ายตรงข้ามปลุกมวลชนไม่ขึ้น (จำนวนมวลชน เวทีผ่าความจริงมี 2 - 3 พัน คน, จำนวนมวลชน กปท. ที่สวนลุมฯ มี 800 – 1,000 คน เป็นต้น)
            ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ก็ทราบถึงจุดอ่อนของตนเอง จึงพยายามรอและคงกำลังของตนเอาไว้ มวลชนจากสันติอโศกเข้ามาที่พื้นที่สวนลุมฯ เพื่อช่วยตรึงสถานการณ์ คนเหล่านี้เป็นมวลชนที่ไม่ใช้เงินเป็นต้นทุนสนับสนุนสูง พวกเขาสามารถปักหลักพักค้างได้ ทำให้อาจมองได้ว่าการตรึงกำลังดังกล่าวน่าจะรอสถานการณ์จำเพาะ 2 เรื่องคือ (1) การนิรโทษกรรมให้กับคุณทักษิณ ถ้าฝ่ายรัฐบาลพยายามเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (ซึ่งในปัจจุบันคงทำได้ไม่ง่ายในช่วงแปรญัตติ แม้จะมองได้ว่ายังมีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกหลายฉบับที่ถูกมองว่า มีการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมคุณทักษิณอยู่ด้วย ค้างอยู่ในสภาก็ตาม) หรือต่อให้ไม่มีก็ฝ่ายต่อต้านก็คงพยายามดึงให้ไปเกี่ยวข้องอยู่ดี และ (2) สถานการณ์เรื่องคำตัดสินปราสาทพระวิหาร อาจผสมด้วยการโยกย้ายทหาร, ช่วงระยะเวลาที่คาดว่าจะมีปัญหา หรือกำหนดการเตรียมเคลื่อนใหญ่น่าจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม
            รัฐบาลก็คงจะอ่านความเสี่ยงทางการเมืองเหล่านี้ออก นายกรัฐมนตรีจึงให้ คุณวราเทพ รัตนากร และ คุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา ดำเนินการเรื่องสภาปฏิรูป และการปรองดอง แต่อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีหลายฝ่ายดำเนินการเรื่อง เวทีสานเสวนา - การปรองดองอยู่แล้ว เช่น กลุ่มสันติวิธี ทั้งจาก สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ ในความเป็นจริงรัฐบาลควรจะให้การสนับสนุน และขอข้อสรุปเวทีเหล่านั้น มากกว่าไปลงมือทำเอง เพราะจะถูกมองว่าไม่เป็นกลาง และฝ่ายตรงข้ามก็จะปฏิเสธการเข้าร่วม ซึ่งทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง (ยกเว้นว่าจะมองว่าเป็นการสร้างภาพทางการเมืองซึ่งไม่จำเป็นสำหรับรัฐบาลนี้ เพราะมีภาพบวกจากเรื่องอื่นอยู่แล้ว) จะไปซ้ำรอยประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ภาพใหญ่ของรัฐบาลคือ จำเป็นจะต้องมีการขับเคลื่อนเรื่อง การปรองดอง + การปฏิรูปโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่างเป็นจริงเป็นจัง หรือทำ double play ในลักษณะเดียวกับการเล่นเบสบอลที่การเล่นของฝ่ายป้องกันในรอบเดียวจะต้องทำ ให้ผู้เล่นฝ่ายรุกถูกออกจากฐานพร้อมกันทั้งสองคน คือเป็นการกำจัดปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง และการแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการขนส่งซึ่งล้าสมัยมา นาน เรื่องพวกนี้ต้องทำให้เกิดผลจริง ไม่ใช่การสร้างภาพ นอกจากนี้เรื่องนี้อันที่จริงก็มีความชอบธรรม เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็จำเป็นจะต้องดำเนินนโยบาย ตามแนวทางนี้ เพื่อเตรียมประเทศรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่กำลังมาถึง
            เมื่อพิจารณาถึงพื้นฐานความขัดแย้ง ก็จะพบว่าความขัดแย้งในขณะนี้แก้ไขยาก เพราะขัดแย้งถึงระดับรากฐาน ฝ่ายเสื้อแดงอาจมองได้ว่า ทำไมฝ่าย "เสื้อเหลือง" รัฐประหาร ซึ่งมีความผิดสูงสุดเพราะเป็นการล้มรัฎฐาธิปัตย์ แต่ผู้กระทำการกลับไม่ต้องรับโทษอะไรเลย มีการบรรจุมาตราที่ย้ำเรื่องนี้เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมองไปก็แทบไม่ต่างอะไรกับการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง และนอกจากนั้นก็มีใช้กระบวนการไม่ถูกต้องในการเอาผิดคุณทักษิณ (หรือพูดง่าย ๆ คือมีปัญหาเรื่อง due process) ซึ่งถ้าเคร่งครัดเรื่องกฎหมายจริง ต่อไปนี้จะไม่สามารถเอาผิดคุณทักษิณได้อีกเลย เพราะ due process ผิดแต่ต้นความผิดที่ได้ตัดสินกับคุณทักษิณไปแล้วจะเป็นอันโมฆะ และจะย้อนกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามพิจารณาคดีสองครั้งในเรื่องเดิม (ดูตัวอย่างคดีอาชญากรสงคราม จอมพล ป พิบูลสงคราม[3])  ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(4) เป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลย อันเป็นการสอดคล้องกับหลักสากลซึ่งเรียกกันในภาษาลาตินว่า Non bis in idem
            ความขัดแย้งโดยพื้นฐานนี้ พัฒนามาถึงจุดที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องเอาชนะกันให้ได้เด็ดขาด แต่ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของไทย ไม่ได้มีความขัดแย้งขนาดใหญ่เหมือนในต่างประเทศ และในขณะเดียวกันทางสากลที่จับตามองอยู่ รวมถึงข้อเท็จจริงคือทั้งสองฝ่ายยังคงมีกำลังก้ำกึ่งกัน
  แต่ข้อเท็จจริงพื้นฐานคือ ทั้งสองฝ่ายต่างประสบความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อแดง เสื้อเหลืองหรือฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หรือแม้แต่ฝ่ายที่ไม่มีสี เช่นญาติของมวลชนฝ่ายเสื้อแดงที่เสียชีวิตในระหว่างชุมนุม, คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม และนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด (น้องเกด) เป็นต้น ทุกฝ่ายต่างก็ต้องการความจริง และมีปมปริศนาบางอย่างที่ยังคลี่คลายไม่ได้เช่นคนเสื้อดำ ข้อมูลเท่าที่ผมทราบมามีปฏิบัติการจริง และมีมากกว่านั้น และไม่รู้ว่าเป็นฝ่ายใคร เราพร้อมจะรื้อฟื้นหรือไม่ และถ้ารื้อฟื้นแล้วจะยอมรับได้หรือไม่ และให้อภัยได้จริงหรือไม่ เรื่องเหล่านี้คงจะเป็นสิ่งยุ่งยากในตอนนี้ เพราะแม้แต่ผู้ต้องขังจากคดีการทำความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทุกฝ่ายก็ไม่อยากเอาขึ้นพิจารณาบนโต๊ะเจรจาด้วยซ้ำ
นี่ยังไม่นับปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของสังคมไทยที่ผูกกับเรื่องศาสนาด้วย แม้จะไม่ชัดเจนก็ตาม


[2] ดู http://www.dailynews.co.th/crime/224274
[3] ใน คดีนั้นคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามได้ยื่นฟ้องจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายเพียร ราชธรรมนิเทศ และนายสังข์ พัฒโนทัย กล่าวหาเป็นใจความว่าสมัครใจเข้าร่วมสงครามรุกรานกับญี่ปุ่น
โดยร่วมยุทธทาง ประเทศพม่ากับโฆษณาชักชวนให้เห็นชอบในการทำสงครามรุกราน การกระทำหลังสุดที่โจทก์หาว่าจำเลยได้กระทำผิด เกิดระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคาม พุทธศักราช 2488 มาตรา 3(1) และมาตรา 4 ขอให้ริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
พระราชบัญญัติดัง กล่าวมีบทบัญญัติว่า ไม่ว่าการกระทำอันบัญญัติว่าเป็นอาชญากรสงครามนั้นจะได้กระทำก่อนหรือหลัง วันใช้พระราชบัญญัตินี้ผู้กระทำได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรสงคราม และจะต้องได้รับโทษดังที่บัญญัติไว้ทั้งสิ้น คดีนี้คือ คดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2-4/2489 ซึ่งศาลฎีกาโดยพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์เป็นเจ้าของสำนวนร่วมวินิจฉัยกับ พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคารและพระชัยประชาเป็นองค์คณะ
ได้ชี้ขาดว่าพระ ราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังให้การกระทำ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป็นโมฆะ การกระทำที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดเกิดก่อนวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามได้ออกใช้ทั้งสิ้น เมื่อบทบัญญัติที่โจทก์ฟ้องขอให้เอาผิดแก่จำเลยเป็นโมฆะอันจะลงโทษจำเลยไม่ ได้ ศาลฎีกาจึงไม่ฟังคำพยานหลักฐานของโจทก์ในเรื่องนี้ต่อไปอีก แล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป
ดูข้อมูล: 
http://www.museum.coj.go.th/SpPerson/Article07.pdf
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก The Nation โพสทูเดย์ เดลินิวส์ คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น