สดุดีวีรประวัติ 68 ปีไทยมีเอกราช:ไม่มีเทวดาฟ้าประทานให้
แต่ด้วยจิตใจเสียสละรักชาติของราษฎร
เสรีไทยเดินสวนสนามหลังสงครามสงบ
16 สิงหา 2488 ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ ประกาศสันติภาพ ทำให้ไทยมีเอกราชสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม
เสรีไทย สกลนคร
ใน
เวลานั้นนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการ
ในห้วงเวลานั้นในหลวงรัชกาลที่ 8 รวมทั้งพระชนนี
สมเด็จพระอนุชา(ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน) ประทับอยูที่สวิตเซอร์แลนด์
พระ
ราชวงศ์ชั้นสูงในเวลานั้นที่ประทับในเมืองไทยมีสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า
นายปรีดีได้เชิญเสด็จอพยพไปประทับที่อยุธยา
ระหว่างที่เสด็จอพยพหลบภัยอยู่นี้ สมเด็จฯ
ทรงมีพระราชหฤทัยนึกถึงสมเด็จพระราชนัดดาอยู่เสมอ ได้ตรัสว่า
“ดีใจ๊ ดีใจ หลานอยู่เมืองนอกไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นฉันคงเอาไม่รอด ห่วงหลาน”
การ
ถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ได้ทรงซาบซึ้งพระทัยดี และเมื่อสิ้นสงคราม ได้รับสั่งเรียกนายปรีดี
ไปที่ประทับและขอบใจ
ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง (อ่านรายละเอียด)
ปากคำหัวหน้าเสรีไทย:เราถือประโยชน์ของชาติสำคัญกว่า แต่ผมประมาทเลยโดนพวกเก่าเล่นงาน
หมายเหตุไทยอีนิวส์:ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ สัมภาษณ์โดย ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ เผยแพร่ในfacebookของ Sinsawat Yodbangtoey เราได้คัดมาเฉพาะัในส่วนที่พูดถึงขบวนการเสรีไทย
ฉัตรทิพย์ :อาจารย์ครับ เมื่อโยงเรื่องนี้เข้ากับเสรีไทยซึ่งเป็นขบวนการ (movement) ที่มาจากประชาชนเยอะมากทีเดียว ผมได้ไปทางภาคอีสานและได้เคยคุยกับคนที่เคยเป็นเสรีไทยเก่า ได้ไปเห็นสนามบินของเสรีไทยผมรู้สึกว่ามีขบวนการที่มาจากประชาชนมาก
ก็อยากเรียนถามอาจารย์ว่ามีช่วงหนึ่งหลังสงครามที่คณะเสรีไทยมีบทบาทมากทำไมในช่วงนั้นโอกาสที่จะจัดตั้งทางด้านประชาชนหรือชาวนาให้ได้ทำการอะไรต่างๆ เพื่อประโยชน์ของเขา หรือเพื่อมีส่วนมีเสียงในสังคมในรัฐบาลให้มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น มันจึงจบลงไปด้วยเวลาสั้นเหลือเกิน
ทำไมในช่วงนั้นท่านอาจารย์ไม่สามารถจะทำให้พลังของประชาชนอันนั้นมาสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ก้าวหน้ากว่าได้ ทั้งๆที่รู้สึกว่า เป็นช่วงที่มีเชื้อขึ้นมาเยอะแยะแล้ว แต่ทำไมกลับฟุบไปอีก อาจารย์กรุณาอธิบายด้วยครับ
ท่านปรีดี :คือการต่อสู้ญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม เรามิได้เป็นชนชั้น เพราะถือเช่นนั้นไม่ได้ คือว่าต้องทุกชนชั้น คือคนไทยที่รักชาติจะอยู่ในชั้นใดก็ตามที่ร่วมมือการต่อสู้ญี่ปุ่น และความจริงก็เป็นเช่นนั้น คือมีเจ้าหลายองค์ หรือลูกเจ้า พวกเศรษฐี พวกโดยมากก็เป็นครู ประชาชนผู้แทนที่เขาเคยจัดตั้งก็หลายคน และเราได้ตกลงกันว่ามีเพียงการกู้เอกราชของชาติและเอกราชสมบูรณ์ที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองให้สำเร็จและให้สัมภาษณ์โดยรับรองมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คุณอ่านหนังสือของผมหรือยัง หนังสือตอบพระพิศาลเรื่องเสรีไทย
และเมื่อเราให้คำมั่นไว้อย่างนั้นแล้ว เมื่อเสร็จสงครามเดือนสิงหา เดือนกันยาเราก็ยุบเลิก เราจะไปฉวยโอกาสเอามาทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของเรามันก็ผิดความประสงค์ไป
ฉัตรทิพย์ :ก็ถ้าเพื่อประชาชนเล่าครับ
ท่านปรีดี :มันก็เท่ากับไปหักหลังเขา มันทำไม่ได้ ผมเห็นว่าเราไม่ควรทำ อีกอันหนึ่งเราก็ปล่อยว่าใครจะตั้งพรรคอย่างไรก็เอา อย่างเช่น ในภาคอีสานก็มีพรรคสหชีพซึ่งคุณเตียง, ทองอิน, ถวิล, จำลอง บุคคลระดับหัวหน้าที่ถูกเขาจับเอาไปฆ่า
ทีนี้เกี่ยวมาถึงสหชีพนั้นผู้แทนอีกหลายส่วนก็ได้ช่วยกันจัดตั้งขึ้น แต่ว่าก็เป็นอดีตเสรีไทยส่วนมากคือ เสรีไทยในบางชนบท ส่วนมากมีผู้แทนราษฎรที่ติดต่อกับราษฎรในท้องถิ่นและครูประชาบาล ครูประชาบาลมีอิทธิพล คุณคงเข้าใจ เป็นอันว่าถ้าผมไม่คิดถึงคำสัญญาว่าเอาเถอะ ทุกคนมาร่วมกันนะเราจะไม่หักหลังกัน ถือประโยชน์ของชาติเป็นส่วนใหญ่ แล้วผมก็อาจพิจารณาทำอย่างที่คุณคิดว่าทำไมผมไม่ทำ แต่นี่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้
ฉัตรทิพย์ :อาจารย์สัญญากับคนอื่นๆ ที่มาร่วมที่ไม่ใช่ชนชั้นชาวนา
ท่านปรีดี :ชาวนาแท้จริงที่เข้าร่วมขบวนเสรีไทยเป็นคนซื่อสัตย์ถือประโยชน์ส่วนรวมของชาติเหนือชนชั้นของตน และรู้ว่าต้องมีขบวนการกว้างใหญ่รวมทุกชนชั้นจึงต่อสู้ศัตรูระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นได้ เมื่อกองบัญชาการเสรีไทยในนามของเสรีไทยได้เห็นสมควรให้สัญญากับบุคคลแห่งชนชั้นใดที่มาเข้าร่วมขบวนการแล้ว ขบวนการก็ต้องซื่อสัตย์
ฉัตรทิพย์ : เป็นความกดดันจากต่างประเทศด้วยหรือเปล่าครับ
ท่านปรีดี : ไม่ใช่ความกดดัน เราก็ต้องการที่ให้ชาวอังกฤษ อเมริกาเขาเข้าใจ เพราะคุณย่อมทราบแล้วจากที่ผมเคยชี้แจงไว้ในหลายบทความ รวมทั้งในหนังสือของผมชื่อ “ จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่องจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา” ใจความสำคัญ ขบวนการเสรีไทยจำต้องปฏิบัติภารกิจในการรับใช้ชาติไทย ๒ ด้านประกอบกันคือ
๑) ต่อสู่ญี่ปุ่นผู้รุกราน และ๒) ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบา
ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา และก่อสถานะสงครามกับจีน ฝ่ายบริเตนใหญ่และออสเตรเลียและสหภาพอาฟริกา (ขณะนั้นยังอยู่ในเครือจักรภพ “Commonwealth” ของอังกฤษ) ก็ได้ประกาศสงครามต่อประเทศไทยเป็นการโต้ตอบ ฉะนั้นขบวนการเสรีไทยจึงต้องปฏิบัติด้านสำคัญนี้ด้วย ซึ่งต่างกับขบวนการการจีนก๊กมินตั๋ง, จีนคอมมิวนิสต์, กับองค์การที่ขึ้นต่อจีน จึงต่อสู้ญี่ปุ่นด้านเดียวก็พอแล้ว เพราะจีนมิได้มีสถานะสงครามกับสัมพันธมิตร
เราถือประโยชน์ของชาติสำคัญที่สุดกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและกลุ่ม แต่ผมประมาทไปก็เลยโดนพวกเก่าเล่นงาน
ส่วนขบวนการกุมภาพันธ์นั้น ความจริงคุณเตียงมิได้เกี่ยวข้องไม่ได้ส้องสุมอะไร แต่เขาเห็นว่าคุณเตียงเป็นศิษย์ผม เขาก็จับไปฆ่า
ฉัตรทิพย์ :แต่ทำไมพลังถึงสูญไปเร็ว ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้สนับสนุนเต็มที่แล้ว
ท่านปรีดี :ถึงแม้เขาถูกทำลายโดยรัฐประหาร ๒๔๙๐ แต่เขาก็ยังคงเกาะเป็นกลุ่มกันอยู่ ต่อมาเมื่อบุคคลระดับหัวหน้าถูกปราบถูกฆ่า กลุ่มก็ค่อยๆ ละลายไป
************
คำชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติพรรคสหชีพ
คำบอกเล่าเกี่ยวกับพรรคสหชีพนั้นมีจำนวนไม่น้อย ฉะนั้นผมจึงขอให้คุณกับสานุศิษย์โปรดสอบสวนเอกสารหลักฐานซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แท้จริงของการเมืองแห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้
๑. เมื่อขบวนการเสรีไทยได้ยุบตนเองในวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ แล้ว สมาชิกแห่งขบวนการนั้นก็แยกย้ายกันไปประกอบกิจต่างๆ กันตามสมัครใจ อาทิ บางคนกลับไปเป็นข้าราชการประจำตามเดิม บางคนประกอบธุรกิจส่วนตัว บางคนรับใช้ชาติในทางการเมืองโดยสมัครเป็นผู้แทนราษฎรอิสระบ้าง ประกอบเป็นพรรคการเมืองตามอุดมการณ์ของตนบ้าง ฯลฯ
๒. พรรคสหชีพเป็นพรรคหนึ่งในบรรดาหลายพรรคที่ตั้งขึ้นภายหลังกันยายน ๒๔๘๘ โดยใช้วีธีต่อสู้ทางรัฐสภา
การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงก่อนรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ นั้น สมาชิกพรรคสหชีพได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจำนวนมาก แต่ยังมีจำนวนไม่พอที่จะตั้งเป็นรัฐบาลโดยลำพังผู้แทนราษฎรของพรรคสหชีพได้ ฉะนั้นพรรคสหชีพจึงร่วมกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคอิสระกับผู้แทนอิสระที่ไม่สังกัดพรรคใดประกอบเป็นรัฐบาลขึ้น
๓. ต่อมาในวันที่ ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ ได้มีบุคคลคณะหนึ่งทำรัฐประหารล้มระบบปกครองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ และได้สถาปนาระบบรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ ๙ พ.ย. ๒๔๙๐ ที่มีฉายาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม และได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
การรัฐประหารครั้งนั้นได้จับกุมสมาชิกพรรคสหชีพไปคุมขังไว้หลายคน และคุกคามที่จะจับกุมผู้ที่สงสัยว่าเตรียมการต่อต้าน
๔. แม้สมาชิกพรรคสหชีพถูกจับกุมและถูกคุกคามก็ดี แต่สมาชิกพรรคสหชีพก็พยายามต่อสู้ตามวิถีทางรัฐสภา
ฝ่ายรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ กับผู้ร่วมมือได้ใช้วิธีกีดกันอดีตผู้แทนรุ่นหนุ่มจำนวนมากที่สังกัด
พรรคสหชีพ, แนวรัฐธรรมนูญ, อิสระ มิให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น