วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"อุกฤษ มงคลนาวิน" ปลุกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร อารยะขัดขืน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ








updated: 02 พ.ค. 2556 เวลา 00:14:35 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ในอดีต "อุกฤษ มงคลนาวิน" ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ สวมหมวกทั้งประมุขนิติบัญญัติ และประมุขผู้ชี้ขาดกฎหมาย-ปัญหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ในปัจจุบัน เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติขัดแย้งกับฝ่ายตุลาการ เจาะจงที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ในเกมอำนาจที่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน

"อุกฤษ" จึงร่อนจดหมายเปิดผนึก 4 ข้อ แนะนำให้มีการลดอำนาจ-ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ เขาเปิดอาณาจักร "Navin Court" ย่านเพลินจิต ไขรหัสสาระของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"

และเขายังแนะนำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากรณีใด ๆ

- ทำไมถึงมีจดหมายเปิดผนึก 4 ข้อปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้

ที่ จริงเราคิดกันมาก่อนนานแล้ว เพราะมีหลายกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายบางมาตราขัดรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ

ไม่ ได้ ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้มานาน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปแก้ไขกฎหมายเกินกว่า 100 ฉบับ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายแต่ละฉบับไม่ใช่เรื่องง่าย และทำให้ขณะนั้นการทำงานต่าง ๆหยุดชะงักลง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ทั้งที่ตัดสินด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 มันเฉียดฉิวมาก

กรณีสำคัญอย่าง นี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 บอกว่า องค์ประชุม 9 คน ต้องมี 5 คน ถือว่าครบองค์ประชุม แต่คะแนนเสียงใช้เสียงข้างมากธรรมดา เช่น องค์ประชุม5 คน ใช้คะแนนเสียง 3 ต่อ 2 ได้ อย่างนี้มันไม่ถูก จึงคิดว่ามี 2 แนวทางที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรอบคอบมากขึ้น 1.องค์คณะ 9 คน จะต้องมีคะแนนเสียงเป็นเสียงข้างมากในการวินิจฉัยเด็ดขาด 7 ต่อ 2 หรือ 8 ต่อ 1 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะองค์ประกอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็น 15 คน มีองค์คณะในการประชุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และการวินิจฉัยต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดไม่ต่ำกว่า 10 เสียงซึ่งตุลาการที่เพิ่มมา 6 คน ก็ให้ผ่านกระบวนการรัฐสภาในการคัดเลือก

เพื่อ เป็นการยึดโยงประชาชน และไม่ควรมีวาระนานเกินไป 4 ปี หรือมีสิทธิ์อีก 1 วาระ ไม่เกิน 8 ปี ส่วนที่ตุลาการบางท่านบอกว่า เหมือนคนดูมาไล่กรรมการ แต่ถ้ายกตัวอย่างในสมัยก่อน การแข่งฟุตบอล คนดูเชื่อกรรมการ ต่อให้คนเห็นว่าลูกนี้ไม่สมควรได้ลูกโทษก็ตาม เพราะกรรมการตัดสินแล้วก็แล้วไป คนดูก็ไม่ว่าอะไร ตอนหลังพฤติการณ์มันหนักขึ้น ๆ เพราะการตัดสินมันผิดพลาดมาก

หลาย ครั้งกลายเป็นว่ากรรมการกับไลน์แมนลงมาเล่นด้วย เล่นทีไร อีกทีมหนึ่งก็แพ้ทุกที ผลคืออะไร คนดูทนไม่ได้ใช่ไหม เหตุการณ์เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญของไทย มันพิสูจน์ได้โดยคำวินิจฉัยของศาลเอง

การที่สมาชิกรัฐสภาเคลื่อนไหว ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นสิทธิ์ที่เขาทำได้ เพราะเขาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ เป็น 1 ใน 3 อำนาจสำคัญของบ้านเมือง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษ ไม่ใช่อยู่ในองค์กรสำคัญของบ้านเมือง ดังนั้น ทำซ้ำซากเขาไม่ยอมรับ ถ้าต่อไปใช้คำว่าอารยะขัดขืน ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ฟังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ชี้แจง จะเรียกว่าอารยะขัดขืนได้ไหม ให้ไปลองคิดกันดู

- เมื่อรัฐธรรมนูญระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กร แล้วอารยะขัดขืนจะใช้ช่องทางไหน

ก็ ใช้ช่องทางเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง หรือตอนที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง มันเป็นช่องทางที่เป็นพฤติการณ์เรียกว่าขัดขืน เพราะคำวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาก็มีสิทธิ์ไม่รับฟัง ก็ให้สังคมเป็นผู้วินิจฉัยว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดถูก เพราะเหตุว่ามันไม่มีศาลอื่นที่จะพิจารณาเรื่องนี้ได้อีกแล้ว ไม่มีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีศาลเดียว

เมื่อมันหมดทาง ก็มีนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ที่จะหาทางแก้ไขยับยั้ง ทางสุดท้ายคือประชาชนที่จะรับหรือไม่รับอันนี้ เพราะระบอบประชาธิปไตยถือประชาชนเป็นใหญ่

- เมื่อเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมานอกเลนแบบนี้ แล้วสุดท้ายศาลกลับตัดสินยุบพรรคเพื่อไทยอีกรอบ จะอารยะขัดขืนอย่างไร

ก็ เขาไม่รับ ถามจริงเถอะ ถ้าตัดสินอย่างนี้ ใครเป็นคนบังคับคดีได้ (เน้นเสียง) ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปสั่งตำรวจ ไปสั่งใครให้จัดการ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติต่างหากที่เขามีอำนาจ ระหว่างช่วงนั้น เขาก็แก้ไขรัฐธรรมนูญซะ ไม่ฟังไอ้มาตรา 68 เพราะมันไม่มีอำนาจอยู่แล้ว ถ้าเขาบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ะ แล้วแก้ไขเพิ่มจำนวนตุลาการ แก้ไขเรื่ององค์ประกอบ แก้ไขเรื่องการลงคะแนน ถ้าขัดขวางอีกก็เจอประชาชน เขาเรียกว่าศาลประชาชน นั่นล่ะคือกรรมการสูงสุดในการตัดสิน

- สรุปว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ยุบพรรค แต่ก็ไม่มีกระบวนการมาบังคับให้ต้องทำตาม

(สวน ทันที) ถูกต้อง ถูกต้อง ให้ยุบพรรค คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยุบ เขาก็ไม่รับ กกต.จะกล้าไหม ประชาชนจะยุบ กกต.เสียเอง หรือฝ่ายนิติบัญญัติแก้กฎหมายยุบ กกต.เสียเอง นอกจากนั้น

ฝ่าย บริหารก็ให้ระงับการจ่ายค่าตอบแทน จ่ายเงินเดือน อยู่ได้ไหม ถ้าเขาจะตอบโต้จริง ๆ แล้วใครจะไปฟ้องล่ะ งบประมาณก็อยู่ที่ฝ่ายบริหาร ถ้าสังคมเอาด้วย ประชาชนเอาด้วย เขาก็ทำได้ แต่ที่ประชาชนเขาไม่ทำ เพราะเห็นว่าเกินไป

- ถ้าอารยะขัดขืนอย่างนี้ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการจะออกนอกเลน ล้ำเส้นกันหมด

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่อยู่ในอำนาจตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษ ไม่ใช่ตุลาการศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง มันผิดกัน

- ทำไมบ่อยครั้งข้อเสนอของอาจารย์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่ย้อนยุค ล้าหลัง

ความ เห็นของคนแตกต่างกัน แล้วคนที่ให้ความเห็นนั้นเคยออกความเห็นอะไรที่ว่าทันสมัยบ้าง ใครที่ว่าย้อนยุคจะย้อนยังไง ในเมื่ออะไรที่ไม่ได้ผลมันก็ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าล้ำยุคจะต้องมีตุลาการ สัก 30 คนเหรอถึงไม่ย้อนยุค จะพูดจะอะไรให้ศึกษาเสียก่อนว่าย้อนยุคคืออะไร แล้วการที่วันดีคืนดี ผู้ที่วิจารณ์แบบนี้ไปเสนออะไรที่มัน...ไม่เกิดประโยชน์ แล้วไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านเคยทำไหม เช่นเคยเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน มาตรา 7 มันยิ่งกว่าย้อนยุค นี่มันเผด็จการ ถูกไหม

- แต่ในอดีตที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน ตอนคดีซุกหุ้นภาค 1 ก็ถูกเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินผิดพลาดเหมือนกัน และเสียงข้างมากก็ชนะกัน 8 ต่อ 7 ห่างกันเพียงเสียงเดียว
คดีซุกหุ้นเราก็ต้องเคารพเขา มันก็ไม่มีปัญหาอะไร เราไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล

แต่ การที่ไปวินิจฉัยเอานายกฯคนหนึ่งออกจากตำแหน่ง ตีความกฎหมายอะไรก็ไม่ได้ ไปเอาพจนานุกรมมาตัดสิน มันเลวร้ายกว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น เรื่องการ

ซุก หุ้นมันเป็นวาทกรรม แต่เอาผิดอะไรเขาไม่ได้ เราอย่ามาพูดในเรื่องนี้เลย เอาว่าต้องแก้ไขกันดีกว่า ว่าถ้าเชื่อตัวบุคคลก็เลิกศาลรัฐธรรมนูญสิ ไปสู่ศาลยุติธรรมธรรมดาเลยก็ได้ ถ้าจะคิดอย่างนี้

อย่าไปเอาตัว บุคคลเป็นหลัก อย่างตอนนี้ที่เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เพราะเราก้าวข้ามคนคนหนึ่งไม่พ้นเท่านั้นเอง อย่าไปกลัวเขา สองมือสองเท้าเท่ากัน มีพรรคการเมืองเท่ากัน สู้กันในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นแหละ บ้านเมืองจะเรียบร้อย

- ศาลรัฐธรรมนูญก็ก้าวข้ามคนคนหนึ่งไม่พ้น

ไม่ พ้น ไม่พ้น ก็นี่ไงถึงตำหนิ อย่างน้อยการวินิจฉัยด้วยคนจำนวนมาก ก็ดีกว่าวินิจฉัยด้วยคนจำนวนน้อย น้อยเท่าไหร่ก็เป็นเผด็จการมากขึ้นเท่านั้น ถ้า 15 คน คะแนนเสียงก้ำกึ่ง 9 คน ก็คะแนนเสียงก้ำกึ่ง ก็เพิ่มไป 25 คนก็ได้ เอาผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามา

- คนที่ศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก้าวไม่พ้นคือคุณทักษิณ ชินวัตร

ใคร ๆ ในโลกนี้ก็รู้ ถ้ายังมีชื่อทักษิณอยู่ ต่อให้เปลี่ยนชื่อยังไงก็ไม่ได้ เหมือนเห็นเงาปีศาจ ซึ่งมันแปลก ผมไม่เคยกลัวเลย ใครจะชื่ออะไรก็ตาม อยู่ที่หลักการความถูกต้อง แล้วใครเป็นอย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้พิพากษาเอง

- ศาลรัฐธรรมนูญการันตีตลอดว่าวินิจฉัยตามพยานหลักฐาน ไม่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ทำไมถึงคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญก้าวข้ามคุณทักษิณไม่พ้น
ไม่ ใช่...ที่อ้างมาว่า 15 คนก็แล้ว 9 คนก็แล้ว เป็นเพราะก้าวข้ามคนคนหนึ่งใช่ไหม แล้วเอามาเป็นข้ออ้าง เวลาเราถูกใจ ก็บอกว่าตัดสินอย่างนี้ดีแล้ว ถ้าเวลาไม่ถูกใจ

ก็บอกว่าเป็นเพราะคน คนหนึ่ง เลิกพูดถึงเรื่องนี้ดีกว่า คนเราเกิดมาสองมือสองเท้า ไปกลัวใคร ทุกอย่างอยู่ที่กรรมดี กรรมชั่ว ถ้าเราทำดีแล้ว ไม่ต้องไปกลัวใคร แต่ถ้าทำชั่ว แม้วันนี้เรารู้สึกว่าชนะ แต่วันข้างหน้าเราต้องรับผลกรรมอยู่ดี

- เคยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในยุคประชาธิปไตยเต็มใบในปัจจุบันต่างกับครึ่งใบไหม
ผิด กันสิครับ จะว่าครึ่งใบอะไรก็ตาม มันเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ตุลาการรัฐธรรมนูญมาจากการโปรดเกล้าฯ มาจากการคัดเลือกมาโดยชอบธรรมเป็นที่ยอมรับ แต่จะมานับถือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปี 2550 มันยากแล้วล่ะ เพราะ คมช.

ใช้ อำนาจคณะปฏิวัติมาตั้งคนของตัวเอง 9 คน ซึ่งเป็นตุลาการส่วนใหญ่ ก็คือเลือกตุลาการภิวัตน์ ที่มามันก็ผิดแล้ว มันเทียบกันไม่ได้ อย่ามาเทียบกันเลย

แล้วตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปี 2540 เขาก็ไม่มีตุลาการภิวัตน์อย่างนี้

- ที่ทำให้แตกต่าง มองว่ามีใบสั่งทางการเมือง

ไม่ ทราบ จิตใจของตัวเองรู้ ใบสั่งไม่สั่ง กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา นักกฎหมายเขาอ่านกันออกว่าตัดสินยังไง การตีความกฎหมายใช้พจนานุกรมแค่นี้ก็รู้แล้ว ตัดสินมา 9 ต่อ 0 (คดีชิมไปบ่นไป)

เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนว่าไง เอางี้ ให้นักกฎหมายรุ่นเหลนไปวิเคราะห์ดู มันเป็นการละเมิดกฎหมาย ละเมิดการตีความ ละเมิดหลักกฎหมายที่เราสอนกันมา

ตั้งแต่สมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บรรพบุรุษตุลาการไม่เคยมีปรากฏอย่างนี้ หรือจะเถียงว่าการตัดสินอย่างนี้ถูก..หา !..ไม่เคยมีตุลาการคนไหนในระบอบครึ่งใบ เต็มใบ ไม่เคยมีใครคิดแบบนี้

- ตกลงมันผิดที่ตัวตุลาการ 9 คน หรือผิดที่ตัวระบบ

มัน ผิดตั้งแต่ต้น องค์ประกอบที่มา อำนาจ แล้วการเลือกตัวบุคคล คนดี ๆ นะ ไม่ใช่ไม่ดี ลูกศิษย์พวกนี้เก่งทั้งนั้น อัจฉริยะไม่มีใครเกิน แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ที่ทำให้คำวินิจฉัยออกมาเป็นที่ยอมรับไม่ได้ ก็ไม่เข้าใจ


...............................................................................................................

ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลังนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)ได้ออกจดหมายเปิดผนึก "ข้อเสนอปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ" ใจความดังนี้

        ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีทบาทสำคัญในการที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชน อีกทั้ง เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ควบคุมมิให้บัญญัติของกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐ ธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเด็ดขาดต่อ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
        
         อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญหลายคดีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่า เป็นคำวินิจฉัยที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้องเป็นธรรม และหลายคดีศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดีโดยได้ก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยของ องค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ และขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ จนนำมาสู่ความหวาดระแวง สงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่ของตนให้สมกับความคาดหวังของประชาชน และภารกิจที่รัฐธรรมนูญได้มอบหมายไว้หรือไม่ และการพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างมีอิสระหรือไม่
       
         ทั้งนี้ โดยมีกรณีตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่น่าสนใจ และผู้เขียนมีความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้งทางสังคม และทางการเมืองที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เช่น คดีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนรษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยเห็นว่าการจัดคูหาเลือกตั้งไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ คดียุบพรรคการเมืองหลายพรรค คดีการตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) สิ้นสุดลง เพราะเหตุเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไป บ่นไป" หรือคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไว้พิจารณา และมีคำสั่งรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ และนายบวร ยสินธร ที่ใช้สิทธิตามมาตรา 68 เพื่อขอให้ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 ของรัฐสภา เป็นต้น
       
         นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาและเมื่อเร็วๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และมีผลทำให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ กล่าวคือ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 และพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว กระทำโดยมติ 5 ต่อ 4 เสียง ซึ่งถือว่าเฉียดฉิวมาก มติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่างกันเพียงเสียงเดียวเท่านั้น แต่มีผลทำให้บทบัญญติของกฎหมายที่ผ่านกระบวนการต่างๆ และมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมาแล้วต้องตกไปหรือเป็นอันบังคับมิได้ใน ทันที
       
         จากสภาพปัญหาในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความพยายามในการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งนอกจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ ในปัจจุบัน ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ดังนี้
        
1. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการวินิจฉัยความชอบชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เฉพาะแต่ ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อให้พระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น เพราะเมื่อกฎหมายฉบับใดประกาศใช้บังคับแล้วถือว่าเป็นเจตจำนงร่วมกันของปวง ชน วิธีการที่จะให้บทบัญญัติใดของกฎหมายตกไปหรือเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ เฉพาะแต่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนเท่านั้นที่จะยกเลิก ปรับปรุง หรือทำการแก้ไขเพิ่มเติม
        
2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คน รวมเป็น 15 คน และองค์คณะในการนั่งพิจารณาและทำการวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 10 คน และคำวินิจฉัยจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งนี้ เทียบเคียงได้จากมาตรฐานกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การตราพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด (มาตรา 185 วรรค 4)
        
3.ควรกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรง ตำแหน่งเพียง 4 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว นอกจากนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย
        
4.แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐ ธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาในแต่ละประเภทคดี ไว้อย่างชัดเจน และต้องมีกำหนดเวลาในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและความเห็นในการวินิจฉัยของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในราชกิจจานุเบกษาภายในภายใน 30 วัน
        
สุดท้ายมีข้อสังเกตุว่า ที่ผ่านมาการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนมีการทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนและมีการแถลง ด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติหรือไม่เพียงใด นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาและการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางคดียังกระทำด้วยความ รีบเร่งผิดปกติ และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่ยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ละเลยต่อกระบวนการหรือวิธีพิจารณาคดีที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีนั้นๆ อาจจะมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเสียเอง และอาจทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับได้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น