บทบรรณาธิการข่าวสดออนไลน์
วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556
นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นถึงข้อเสนอเรื่องการจัดเวทีหารือแนวทางปฏิรูปการเมืองเพื่อหา ทางออกให้สังคมของรัฐบาล
ว่า ก็คงจะเกิดผลคล้ายคลึงกันกับการพูดคุยหารือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับกลุ่มบี อาร์เอ็น ในปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือพูดกันไป ก็เผาไป และยิงกันไป
ไม่ว่าจะเชื่อในสิ่งที่ตนเองพูดโดยสุจริตใจ หรือพูดไปโดยมีแง่เงื่อนทางการเมืองเป็นตัวกำหนดอยู่ก็ตาม
แต่คำพูดของนายอภิสิทธิ์แสดงความไม่เชื่อถือแนวทางในการแก้ปัญหาของรัฐบาลออกมาชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองหรือปัญหาชายแดนภาคใต้
ประเด็น ว่าความไม่เชื่อถือนี้เกิดขึ้นเพราะ "ไม่คิดว่า" กระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะสำเร็จ หรือเกิดขึ้นเพราะ "ไม่ต้องการ" ให้กระบวนการแก้ไขปัญหานี้ประสบความสำเร็จ
เพราะ ถ้าเป็นประการแรก หากเห็นว่าแนว ทางหรือวิธีการที่ดำเนินอยู่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับสังคมได้ ผู้นำฝ่ายค้านก็สามารถเสนอแนวทางหรือวิธีการที่เห็นว่าดีกว่าขึ้นมาเทียบ เคียงได้
ด้าน หนึ่งเพื่อให้ปัญหาในสังคมยุติหรือทุเลาลง อีกด้านหนึ่งก็เพื่อแสดงให้สังคมได้เปรียบเทียบ ว่าข้อเสนอหรือทางเลือกใดจะเป็นประโยชน์ จะเป็นไปได้ในสังคมมากกว่ากัน
เป็นการทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านให้ครบถ้วนสมบูรณ์
แต่หากท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเหตุผลประการหลัง อนาคตของการเมืองและสังคมไทยก็คงยังอึมครึม
ประการหนึ่ง เพราะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ และมีบทบาทเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองจำนวนมากในปัจจุบัน
สังคมส่วนหนึ่งย่อมคาดหวังว่าเมื่อเป็นผู้ผูกแล้ว ก็จะต้องเป็นผู้ลงมือแก้ด้วยตนเองด้วย
ประการ หนึ่ง ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างความคาดหวังให้กับคนจำนวนไม่น้อย ว่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่หรือไม่
หากไม่กระโดดมาอยู่ซีกที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา
ก็แสดงว่ายังยืนอยู่บนฝั่งที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอยู่ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น