(ที่มา:มติชนรายวัน 21 สิงหาคม 2556)
แม้จะมีความเคืองแค้น เมินหมางกัน
โดยเฉพาะในห้วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูก "ลอบสังหาร"
โดยเฉพาะในห้วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวในประเด็นปราสาทพระวิหารแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมเติมคน
ทำให้ม็อบ "หร็อมแหร็ม" อย่างน่าใจหาย
หากประเมินจาก "น้ำเสียง" ของ 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะทางด้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะทางด้านพรรคประชาธิปัตย์
ยังมี "เยื่อใย"
เหมือนกับมีอาการงอนสำแดงจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์กลับผ่อนคลายมากกว่า
ยื่น "นิ้วก้อย" ให้อย่างเต็มที่
สถานการณ์ทางการเมืองนั่นแหละจะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญในการดึงให้พรรคประชาธิปัตย์กับพันธมิตรหันมาเป็นหนึ่งเดียว
เพราะว่ามี "เป้าหมาย" เดียวกัน
เป้าหมายเฉพาะหน้าคือ 1 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ 1 คือ สิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ"
เหตุปัจจัยการเมืองคือ "กาวใจ" อย่างสำคัญ
หาก ไม่มีเหตุปัจจัยทางการเมืองการจับมือกันระหว่าง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง คงไม่เกิดขึ้นผ่านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2538 ผีไม่ยอมเผา เงาไม่ยอมเหยียบ
เพราะว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ดึงเอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแทน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ในกระทรวงการต่างประเทศ
แต่เมื่อเกิดการไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง 2 ก็หันมาจูบปากกัน
เพราะ ว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็เคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพราะว่า น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็เคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ทุกอย่างก็ "เรียบโร้ยยย"
ณวันนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับ พรรคประชาธิปัตย์ อาจร้องเพลงกันคนละคีย์ ทอดเสียงคร่อมจังหวะ แต่เพลงนั้นก็มีตัวโน้ตไม่แตกต่างกัน
เป็นตัวโน้ตที่มี "ศัตรู" เดียวกัน
จังหวะก้าวที่ "ร่วม" กันประการหนึ่ง คือ ต่างฝ่ายต่างยื่นมือแตะไปยัง "กองทัพประชาชน" ซึ่งร่อแร่อย่างยิ่ง ณ เวทีสวนลุมพินี
เห็นได้จาก "กองทัพธรรม" เข้าไปเสริม
เห็นได้จากเบื้องต้นมีเพียง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ขึ้นเวที ต่อมาก็มี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
จากการไป "สวนลุมพินี" นั้นเองนำไปสู่การพบปะหารือกัน
นั่น ก็คือ การหารือระหว่าง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายกษิต ภิรมย์ กับ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โดยมี นายประพันธ์ คูณมี ร่วมอยู่ด้วยในวงสนทนา
งานนี้อาจมี นายประพันธ์ คูณมี เป็นตัวเชื่อม
แต่น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เห็นดีด้วย ขณะที่ไม่มีความหงุดหงิดจาก นายสนธิ ลิ้มทองกุล
การนับ 1 คือจุดเริ่มต้น
เบื้องหน้าการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ถามว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คิดอย่างไร ถามว่าพรรคเพื่อไทยคิดอย่างไร ถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลคิดอย่างไร
เพราะนี่คือสัญญาณแห่ง "สงคราม" ครั้งใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น