จับทิศทาง"ปชป."ขวางนิรโทษ
เดินเกมค้านใน-นอกสภา
วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2556
อุณหภูมิการเมืองระอุขึ้นทุกขณะ
ต้อนรับฤดูกาลเปิดประชุมสภา สมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคม
เมื่อ หลายกลุ่มก้อนทางการเมือง เริ่มพากัน "เอ็กเซอร์ไซส์" แสดงจุดยืนและทีท่า ในการคัดค้านรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ที่ผลักดันให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เข้าสู่การพิจารณาในสภา วันที่ 7 สิงหาคมนี้ การใส่เกียร์เดินหน้าให้สภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย ถือเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ที่พร้อมจะลุกโชน "เรียกแขก" ได้ทุกขณะ เพราะกลุ่มต้านก็เกรงว่าจะมีการสอดไส้ "ล้างผิด" ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แกนนำเสื้อแดง ผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มือเผาทำลายทรัพย์สินราชการ-เอกชน และคนสั่งการให้สังหารประชาชน ทำให้แรงต้านจากม็อบกลุ่มต่างๆ เริ่มมีให้เห็นเป็นระยะตามท้องถนน อีกทั้งยังเป็นชนวน "ปลุก" ให้องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ฟื้นคืนชีพ และ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวในนาม "กองทัพประชา ชน โค่นระบอบทักษิณ" ที่ส่งสัญญาณให้ "ประชาชน" ทุกภาคส่วน ออกมารวมพล ร่วมกันแสดงจุดยืน ในการชุมนุมใหญ่วันที่ 4 สิงหาคม โดยที่ "ยุทธศาสตร์" การเคลื่อนไหวยังถูกเก็บเป็นความลับ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมมวลชนจากกลุ่มหน้ากากขาว และไทยสปริง ที่พร้อมตบเท้าเข้ามาสมทบได้ทุกเมื่อ หาก "รัฐบาล" สนองตอบผลประโยชน์ ที่เอื้อต่อคนไกลและพรรคพวก ทว่า "แรงต้าน" จาก "ม็อบ" นอกสภา เพียงอย่างเดียวคงดังไม่พอที่รัฐบาลจะ "เงี่ย" หูฟัง งานนี้จึงอาศัย "พลัง" จากพรรคการเมือง "ค่ายสะตอ" อย่าง "ประชาธิปัตย์" เมื่อหัวขบวนใหญ่ นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ออกโรงต้าน แสดงจุดยืนที่หนักแน่นมาตั้งแต่ต้น ว่ารัฐบาลควรหันมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมภาคประชาชน ซึ่งมีเนื้อหาสาระบางเรื่องที่รับได้ แต่ต้องถอนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกจากสภาให้หมดก่อน และหันหน้ามาตั้งโต๊ะเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่เมื่อ "รัฐบาล" ปฏิเสธอย่างไม่ไยดีต่อข้อเสนอ "ประชาธิปัตย์" จึงงัด "ไม้ตาย" ออกมาสู้ ด้วยการ "ปลุก" ประชาชนและมวลชน ให้ออกมาต่อสู้ "นอกสภา" ร่วมกัน ทำให้กระแสต้านเริ่มเป็นปึกแผ่น และเหนียวแน่นมากขึ้น อีกทั้งยังออก "ไอเดีย" ด้วยการระดมเปิดเวทีประชาชน เดินหน้าผ่าความจริง กฎหมายล้างผิด คิดล้มรัฐธรรมนูญ เงินกู้ผลาญชาติ อำนาจฉ้อฉล ทั่วกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ที่จะมีการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดกำหนดการว่า วันที่ 3 สิงหาคม ปราศรัยที่ตลาดปัฐวิกรณ์ เขตบึงกุ่ม วันที่ 4 สิงหาคม ปราศรัยที่โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ เขตจตุจักร วันที่ 5 สิงหาคม ปราศรัยที่เขตบางซื่อ และวันที่ 6 สิงหาคม ปราศรัยที่โรงยิมมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นอกจากนั้น ยังปลุกมวลชนให้ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการโพสต์ภาพถ่ายและป้าย ไม่เอากฎหมายล้างผิด ลงบนเฟชบุ๊ก และนัดรวมพลสวมชุดดำประท้วง ขณะที่ นักการเมืองแถวหน้าค่ายสะตออย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ร่วมโหมโรงเรียกแขกลงสู่ท้องถนน พร้อมส่งสัญญาณว่า การต่อสู้คราวนี้ไม่ง่ายไม่ใช่วันเดียวแล้วจบ แต่จะยืดเยื้อ ยาวนาน โดยประกาศจะสู้ตั้งแต่โหวตวาระแรก หากวาระแรกแพ้ ก็จะขอสู้ในชั้นกรรมาธิการวาระ 2 โดยจะแปรญัตติทุกมาตรา ทุกตัวอักษร และกลับมาสู้ในสภา วาระ 3 และหากยังแพ้อีก ถึงวันนั้นเชิญประชาชนเป่านกหวีดยาวได้ จะไม่รอให้ใครสั่งผม ไม่ขออนุญาตใคร แต่จะมายืนกับประชาชน เป็นอย่างไรก็เป็นกัน ทว่าการส่งสัญญาณ ต่อสู้ของ "สุเทพ" นำมาซึ่งการตีความได้หลายนัยยะ ประหนึ่งว่าเป็นการ "เตือน" รัฐบาล หากยังดึงดัน ก็ขอให้เตรียมรับมือกับ "ม็อบ" กลุ่มต่างๆ ที่จะพากันอพยพเข้ากรุงได้ทุกเมื่อ อีกหนึ่งสัญญาณ ที่มาการันตีให้ชัดเจนขึ้น ว่าม็อบข้างถนนเกิดแน่ เมื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยว่า "พรรคประชาธิปัตย์ คัดค้านแน่นอน เพราะรู้ว่าการต่อสู้ตามระบบรัฐสภา ไม่มีทางชนะ" น่า จับตาว่า การเดินหน้าค้านทั้งในและนอกสภาของพรรคประชาธิปัตย์ ในแบบฉบับที่ประกาศจัดเต็ม ในการสกัดกั้น เพื่อไม่ให้กฎหมายล้างผิดผ่านสภา จะสำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ได้ประกาศไว้หรือไม่
(ที่มา:มติชนรายวัน 2 สิงหาคม 2556)
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น