|
วิเคราะห์ การเมือง มติชน 21 เมษายน 2556
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1366517560&grpid=&catid=01&subcatid=0100 เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่พรรคเพื่อไทยผลักดันให้เลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนนั้นสะท้อนอะไรบางอย่างให้เห็น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และ 40 ส.ส.ที่ร่วมผลักดัน ต้องการให้ผู้ที่ต้องโทษหรือถูกคุมขังหรือมีความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ ความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นได้รับการนิรโทษ ดังความในมาตรา 3 สรุปว่า ... ให้ การกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจา หรือโฆษณา ด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคล ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่ถือเป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการกระทำของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว น่า สังเกตว่า การเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมา เกิดจากแรงผลักดันของมวลชนคนเสื้อแดงที่เริ่ม "น้อยใจ" หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล แกนนำได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีตำแหน่งทางการเมือง ถึงระดับรัฐมนตรี แต่เพื่อนฝูงญาติพี่น้องจำนวนหนึ่งยังติดคุก น่าสังเกตอีกว่า ในวาระการเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน เดิมทีคาดว่าจะมีมวลชนที่ไม่เห็นด้วยเดินทางมาคัดค้าน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังไว้เตรียมรับ แต่ในที่สุดมวลชนก็ไม่ได้แห่แหนกันไปดังคาด กระบวนการคัดค้านยังดุเดือดอยู่ในกรอบของสภาเท่านั้น ข้อสังเกตทั้ง 2 ประการเกี่ยวโยงกับ "มวลชน" ที่ตั้งอยู่ในความสงบ และแสดงถึงความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น คล้ายกับว่า "มวลชน" ได้สรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี "มวล ชน" ได้แสดงท่าทีแห่งความเข้าใจในการเคลื่อนไหวหลายครั้ง แต่ที่เห็นชัดคือ การเคลื่อนไหวขององค์การพิทักษ์สยาม ที่มี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย เป็นแกนนำ ซึ่งตั้งใจจะจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล แต่เมื่อเงื่อนไขทุกประการมิได้เอื้อ "มวลชน" ก็ไม่เล่นด้วย ยังมี เหตุการณ์ปัจจุบัน คือ การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ในกรณีปราสาทพระวิหาร ที่มีกลุ่มพลังบางกลุ่ม พยายามปลุกคนไทยให้คลั่งชาติ แต่สุดท้าย "มวลชน" ก็ยังอยู่ในที่ตั้ง รับฟังและติดตามข่าวสารอย่างนิ่งสงบ หรือ แม้แต่ ความพยายามปลุกกระแส "ทวงคืน ปตท." โดยเคลื่อนไหวผ่านทางเว็บไซต์จนเกือบจะลุกเป็นไฟ แต่ทุกอย่างก็ยังไม่รุนแรง เพราะ "มวลชน" รอฟังข้อมูล เพื่อการกลั่นกรองหาความจริง ด้วยความเคลื่อนไหวของ "มวลชน" ในขณะนี้ ทำให้การเมืองที่ทำทีจะลุกเป็นไฟ ยังคงสงบราบเรียบ ด้วยอาการของ "มวลชน" ที่ปรากฏ ได้กดดันให้ฝ่ายการเมืองต้องขยับปรับปรุงตัวเอง พรรคเพื่อไทยถูกคนเสื้อแดงรุกถามถึงแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ติดคุกเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ถามแกนนำไม่รู้เรื่อง ก็ถามไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่นอกประเทศ..... รัฐบาลจะช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะมวลชนถดถอย ไม่ยอมรับ จนภายในเริ่มหันกลับไปทบทวนตัวเอง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงกลายเป็นหน่วยกล้าตาย กระตุ้นให้ประชาธิปัตย์ปฏิรูป เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของ "มวลชน" ขณะ ที่รัฐบาลเองก็ถูกคาดหวังมากขึ้น รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง นอกจากต้องมี "เส้น" มี "สาย" ยังต้องมี "ผลงาน" ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อประชาชน รัฐมนตรี ที่ไม่เคยชี้แจงข้อสงสัย รัฐมนตรีที่ไม่เคยอธิบายความคืบหน้า รัฐมนตรีที่ไม่เคยพูดถึงความสำเร็จ ล้วนเป็นรัฐมนตรีที่กำลังต้องเผชิญหน้ากับคำถามจาก "มวลชน" น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ผ่านมา ทำให้ "มวลชน" ได้รับบทเรียน บทเรียนที่ถูกหลอก บทเรียนที่ถูกกระทำ และบทเรียนทางการเมืองที่ต้องจดจำ เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำฝ่ายใด เมื่อ "มวลชน" เข้มแข็งขึ้น "การเมือง" จึงต้อง "อัพเกรด" เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของ "มวลชน" |
รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น