วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

ดร. โกร่ง ลอกคราบ อะไรคือมรดกอสูร ใครคือทายาทอสูร !!

ทายาทอสูร มรดกอสูร 

โดย วีรพงษ์ รามางกูร 
มติชน  18 เมษายน 2556
 
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1366266430&grpid=01&catid=01&subcatid=0100

ส.ว.ลากตั้ง ทำตัวเป็นทายาท คมช.อย่างแจ้งชัดในหลายๆ เรื่อง คมช.ได้สลายตัวไปแล้ว หัวหน้า คมช.ที่ทำการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ก็มาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ทำหน้าทำตาเป็นนักประชาธิปไตย พร้อมๆ กับออกมาสารภาพว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีบทบัญญัติหลายเรื่องไม่เป็นประชาธิปไตยและเสนอแก้รัฐธรรมนูญเสียเอง

ก่อน การรัฐประหาร 19 กันยา 49 เหล่าขบวนการล้มล้างหรือผู้ต่อต้านรัฐบาลทั้งหลายในยุคนั้น ปลุกปั่นปล่อยข่าวเท็จ เป็นระลอกหลายเรื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน เริ่มจากเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ ซึ่งศาลก็ตัดสินจำคุกแต่รอลงอาญาคนปล่อยข่าวไปแล้ว ปล่อยข่าวขบวนการล้มเจ้า ซึ่งไก่อู โฆษก คมช.ก็สารภาพไปแล้ว รวมทั้งข่าวฉ้อราษฎร์บังหลวงมากมาย จนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นการพิสูจน์อย่างแจ้งชัด ข่าวเรื่องมีผลประโยชน์ในการเจาะน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทยกับเขมรป่านนี้ก็ยัง ไม่จริง รวมทั้งสารพัดข่าวเท็จที่ออกมาเพื่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน

มี พุทธวจนะบทหนึ่งว่า "นตฺถิ อการิยํ ปาปํ มุสาวาทิสฺส ชนฺตุโน" ความว่า "คนพูดเท็จ จะไม่พึงทำบาป ย่อมไม่มี" หรือแปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า "คนโกหกไม่ทำชั่วไม่มี" มุสาวาทาที่ขบวนการทำให้ประชาชนแตกแยกก็กลายเป็นมรดก คมช.มาจนบัดนี้

มรดก คมช.ที่สำคัญที่ยังคงอยู่คือ รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีบทบัญญัติ บอนไซ การพัฒนาประชาธิปไตย และปกป้องมรดก คมช. อยู่หลายเรื่อง

การ ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 เรื่อง อันได้แก่ ขอให้การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด การยุบพรรคการเมืองและลงโทษกรรมการบริหารที่ไม่ได้ทำผิดทำไม่ได้ ยกเลิก ส.ว.ลากตั้ง เมื่อวุฒิสภาครบวาระแล้ว และการที่รัฐบาลจะไปเจรจาเรื่องต่างๆ กับต่างประเทศต้องขออนุมัติรัฐสภาเสียก่อนทุกเรื่อง ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ ก็น่าจะแก้ไขทั้งนั้น ไม่เห็นมีอะไรจะเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตย

ทายาท คมช. 40 ส.ว.ก็ออกมาร้องโพนทะนาอาละวาดทันทีว่า เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เหมือนๆ กับการขอตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับมรดก คมช.ฉบับนี้ ที่ทายาท คมช.ทำเกือบสำเร็จ

มรดก คมช.ทิ้งไว้มีอีกมาก หลักการการจัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อช่วยรัฐสภาตรวจสอบรัฐบาลเป็นหลักการที่ดีใช้ได้ แต่การสรรหาบุคลากรเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ต้องดูคุณสมบัติความคิดเห็นเป็นกลาง บริสุทธิ์ยุติธรรมที่จะทำให้ "ประชาชนไว้วางใจ" สถาบันอิสระเหล่านี้จึงจะเป็นสถาบันอันทรงเกียรติ ไม่เป็นทายาท คมช.



แต่ถ้าสรรหาเอาบุคคลที่มีความเป็นมา มีความคิดความเห็นเป็นทายาท คมช. เช่น "ตุลาการภิวัฒน์" ที่พูดจาแสดงความเห็นไม่เคารพต่อวิชาชีพ ไม่เคารพตนเอง เข้าไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ องค์กรอิสระนั้นก็เสียหาย "ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน"

มรดก คมช.เหล่านี้ 40 ส.ว.ทายาท คมช.ออกมาปกป้อง ใช้เหตุผลข้างๆ คูๆ ไร้เหตุผลหลักการ หลักวิชาการ ผิดเพี้ยนจนไม่รู้จะกล่าวอธิบายความจริงอย่างไร

ประชาชนคนไทยควรจะ เรียนรู้จากประสบการณ์เสียทีว่า การทำปฏิวัติรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งเลวร้ายที่ทั่วโลกเขาประณาม การแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ โดยทหารควรจะหมดสิ้นไปจากเมืองไทยเสียที ประชาธิปไตยแม้จะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด ยังเป็นความจริง ระบอบการปกครองโดยทหารหรือครอบงำโดยทหารเป็นระบอบที่เลวที่สุด

เมื่อ มีการทำการรัฐประหาร โดยเฉพาะการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 กระทำในยุคที่โลกเขามีการพัฒนาการเมืองกันไปทั่วแล้ว ช่วงที่กำลังดูถูกดูหมิ่นพม่าและยกย่องประเทศไทยว่ามีการพัฒนาการเมืองไปได้ เร็วที่สุดหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 พอ คมช.มาทำการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ประเทศไทยก็ถอยไปอยู่แนวหลังของพม่า รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่จัดตั้งในกรมทหาร ออง ซาน ซูจี ยังรังเกียจไม่อยากพูดด้วย และไม่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จัดตั้งโดย คมช.หรือกองทัพที่ทำรัฐประหาร

เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีทายาท คมช.ออกมาเรียกร้องให้ยึด ปตท.คืน เพราะใต้แผ่นดินประเทศไทยมีน้ำมันสำรองอยู่มหาศาล ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จอย่างตรงไปตรงมา บังเอิญกระแสที่เคยตามการกล่าวเท็จในช่วงก่อนรัฐประหารได้ซาลงจึงไม่มีใคร เชื่อ ก็เลยแล้วกันไป

มรดกของขบวนการประชาธิปไตยนั้นทำลายได้ง่าย เพียงแค่ลากปืนออกมาทำปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่มีใครกล้าหือ แม้จะมีคนที่เคยประกาศตนว่า "เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา" แต่เมื่อมีการทำรัฐประหารก็ไม่เคยเห็นหัว หลบหน้าหายตัวไปทุกที

องค์กรมรดก รัฐประหารทำลายได้ยากแม้จะกลับมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะขบวนการรัฐประหาร จะสร้างรัฐธรรมนูญ และองคาพยพบรรจุทายาทของตนไว้ทุกครั้ง การจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขมรดกที่ทิ้งไว้จึงทำได้ยาก

คมช.จึงเปรียบเสมือนอสูร ที่ทิ้งมรดกคือรัฐธรรมนูญและตั้ง "ทายาทอสูร" ไว้ทำหน้าที่แทน ต่อต้านและบอนไซขบวนการประชาธิปไตย

อะไรคือมรดกอสูร ใครคือทายาทอสูรเจ้าตัวรู้ดี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น