วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

อ่านแล้วน้ำตาไหล "สมยศ พฤกษาเกษมสุข: “ผมคิดผิดไปแล้ว”

 

thaienews.blogspot.com/2013/04/blog-post_30.html 

30 เมษายน, 2013 - 12:03 | โดย Somyot-Redpower
โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ที่มา "สมยศ พฤกษาเกษมสุข: “ผมคิดผิดไปแล้ว”



ผม ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเมื่อชีวิตย่างเข้าสู่วัย 50 ปี จะกลายเป็นอาชญากรแผ่นดิน ติดคุกตะราง ถูกจองจำสูญเสียอิสรภาพ ใช้ชีวิตอยู่ในกรงขังแน่นหนาเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน

ผมใช้ชีวิตในวัย หนุ่มอยู่กับผู้ใช้แรงงาน ต่อสู้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม เช่นเดียวกันกับผู้คนร่วมสมัยมากมายที่ใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ที่ดีงาม ปราศจากการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาพเท่าเทียมกัน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

ผมไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้มีเงินทองมากมาย ผมใช้ชีวิตพออยู่พอกิน ไม่เคยคดโกงหรือเบียดเบียนคนอื่น ไม่คิดสะสม พอมีเงินเหลือบ้างก็แบ่งปันให้คนที่ยากจนทุกข์ยากมากกว่าผม เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับผมบอกผมว่า “ผมคิดผิดไปแล้ว” เพ้อฝันอยู่กับอุดมคติเกินไป

หลายคนประสบผลสำเร็จเป็นนักธุรกิจเงิน ล้าน เป็นครูอาจารย์ที่น่านับถือ เป็นนักการเมืองชื่อดัง มีชีวิตที่มั่งคั่งร่ำรวย สุขสบาย ส่วนผมเป็นคนสามัญชนคนธรรมดา เดินถนน กินข้าวแกงอยู่ตามตรอกตามซอย

ผมเติบโตมากับการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจะเลวร้าย ย่ำแย่ลง ไร้สิทธิเสรีภาพ รัฐประหารมีแต่ความรุนแรงด้วยการปราบปราม เข่น”ประชาชน และจับกุมคุมขัง ผมไม่อาจอยู่เฉย เอาตัวรอดตามลำพัง ผมออกมาต่อต้านการรัฐประหารตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 , 23 กุมภาพันธ์ 2534 และล่าสุด 19 กันยายน 2549 ผมเห็นว่านี่เป็นการทำหน้าที่พลเมืองไทย และเป็นการทำประโยชน์ให้กับสังคม เป็นคุณงามความดีตามความเชื่อของพุทธศาสนา

ผม เป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ฟังการปราศรัย เข้าร่วมการเดินขบวนเป็นบางครั้ง ผมเริ่มรู้จักหลายคนที่ร่วมการชุมนุม จึงได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตยขึ้นมา เป็นองค์กรหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง

เมื่อแกนนำ นปช. ถูกจับกุมในปี 2550 , 2552 และ 2553 ผมและพรรคพวกในนามกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตยได้ออกมาต่อสู้เรียกร้องให้ปล่อย ตัวพวกเขา ขนถูกเรียกว่า แกนนำ นปช. รุ่น 2 เป็นการขนานนามโดยสื่อมวลชน ครั้นเมื่อแกนนำได้รับการปล่อยตัวแล้ว ผมก็กลายเป็นคนธรรมดา ที่ยังต่อสู้อยู่กับประชาชนเหมือนเดิม จนผมถูกพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องหมิ่นประมาทจากการขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีคณะรัฐประหาร ผมต่อสู้คดีในศาลอย่างโดดเดี่ยว มีทนายความอาสามาช่วยฟรีอย่างอนาถา ผลก็คือศาลพิพากษาปรับ 100,000 บาท จำคุก 2 ปี รอลงอาญาไว้ 1 ปี ทำให้ผมกลายเป็นคนมีหนี้สินที่ต้องชดใช้ จนเดี๋ยวนี้ผมยังชดใช้ไม่ได้

เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทบอกกับผมว่า “ผมเลือกข้างผิดแล้ว ดูซิ ไม่มีใครสนใจให้ความช่วยเหลือเลย”

ผม ถูกเชิญให้มาช่วยเขียนบทความให้กับนิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาทีมงานจัดทำเกิดความขัดแย้งกัน ผมจึงถูกมอบหมายทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารให้ ผมคิดแต่เพียงว่าจะได้ใช้โอกาสนี้ผลิตสื่อเสรี เป็นเวทีกลางของประชาชนที่ต่อต้านอำมาตย์ และการก่อการรัฐประหาร คัดค้านอำนาจนอกระบบที่ครอบงำการเมืองไทยมาช้านาน

หลังจากที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข่นฆ่าคนเสื้อแดงอย่างโหดร้ายระหว่างเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม 2553 ผมและอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ออกมาประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผลก็คือตำรวจตามล่า จับกุมตัวไปไว้ที่ค่ายทหารอดิศร จังหวัดสระบุรี ตำรวจที่มาสอบสวนขอร้องให้เลิกทำนิตยสาร Voice of Taksin เลิกยุ่งเกี่ยวกับคนเสื้อแดง ร่วมมือกับรัฐบาลเป็นพยานปรักปรำชายชุดดำซึ่งมีอาวุธ หากไม่ให้ความร่วมมือจะเจอข้อหาตามมาตรา 112 อย่างแน่นอน

ผมปฏิเสธ โดยเด็ดขาดที่จะไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้ใส่ใจต่อคำเตือนของตำรวจคนดังกล่าว เมื่อปล่อยตัวผมออกมา ผมยังคงดำเนินงานเหมือนเดิมทุกประการ แค่เปลี่ยนชื่อนิตยสารเท่านั้น ผมเห็นว่าเป้นความถูกต้องชอบธรรมของประชาชนในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี และเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตก็ตาม

ช่วงนั้นมีการดำเนินคดี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มมากขึ้น ผมเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายนี้คุกคามเสรีภาพของประชาชน ผมได้แสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผยว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายไม่เป็นธรรม ผมจึงแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 ว่าจะรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 คน จนถึง 1 ล้านคน เพื่อเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 อันเป็นสิทธิของประชาชนคนไทยตามรัฐธรรมนูญ 2550

อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เคยเตือนให้ผมหลบหนีเพราะมีกระแสข่าวว่า DSI ออกหมายจับในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ และมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน ผมจึงไม่หลบหนีไปไหน แม้ว่าในเวลานั้นผมถูกสะกดรอยตามอย่างใกล้ชิดจนคุ้นเคย และจำใบหน้าได้เป็นอย่างดี แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร และประสงค์อะไร

ถึง แม้ผมจะทุ่มเททำงานในหน้าที่สื่อมวลชน และร่วมกับขบวนการประชาชนต่อต้านรัฐประหาร จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว แต่ผมก็รักครอบครัว ไม่เคยคิดหนีไปไหน ผมมีความสุขอยู่กับการอุทิศตนร่วมกับประชาชน เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความถูกต้อง เพื่อสังคมใหม่ที่ดีงาม ผมจึงไม่คิดหนีไปไหนอย่างแน่นอน จนกระทั่งผมนำคณะท่องเที่ยวไปกัมพูชา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ผมจึงถูกจับกุม ผมไม่ได้ขัดขืนหรือตระหนกตกใจ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องถูกใส่กุญแจมือ ถูกนำไปขังไว้ที่ห้องขังกองปราบปราม ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นเกรอะกรัง กลิ่นเหม็นอับด้วยคราบสกปรกของห้องน้ำที่น่าขยะแขยง ผมล้มตัวลงนอนด้วยความอ่อนเพลีย

ตำรวจคอมมานโดพร้อมอาวุธปืนกลควบคุม ตัวผมมาฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง และถูกส่งตัวมาขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นกันแนะนำให้รับสารภาพดีกว่า เพราะการต่อสู้คดีไม่มีวันได้รับความเป็นธรรม เพราะจะไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เมื่อสารภาพแล้วจึงขอพระราชทานอภัยโทษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไป

ผมไม่เชื่อคำแนะนำดังกล่าว ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ และมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ผมยื่นคำร้องขอสิทธิประกันตัวอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นคดีร้ายแรง กลัวว่าจะหลบหนี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 – เมษายน 2555 ผมถูกส่งตัวไปไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์ที่ศาลจังหวัดสระแก้ว ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ศาลจังหวัดนครสวรรค์ และศาลจังหวัดสงขลา โดยที่ต้องถูกคุมขังอยู่ในคุกแต่ละจังหวัดเป็นเวลานาน จนล้มป่วยหนัก ร่างกายผ่ายผอม ไอออกมาเป็นลิ่มเลือด

เมื่อได้กลับมาคุมขังอยู่ที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ฝ่ายพนักงานสอบสวน และอัยการ เสนอแนะผ่านทางเรือนจำให้ผมยอมรับสารภาพจะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง ส่วนเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เองได้เกลี้ยกล่อมให้ยอมรับสารภาพ เพื่อจะได้ขอรับพระราชทานอภัยโทษให้

ผมไม่เชื่อ และมั่นในความบริสุทธิ์ มั่นใจว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ ผมจึงเดินหน้าต่อสู้คดี ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป ระหว่างการไต่สวนไม่มีการเตรียมพยาน ไม่มีการเตรียมคดี เพียงแต่พูดความจริงให้หมดเปลือก ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์เหมือนเดิมทุกประการ

ผมถูกคุมขังถึง 2 ปีเต็ม ใช้ชีวิตไร้อิสรภาพด้วยความซ้ำซาก จำเจ น่าเบื่อหน่าย อยู่กับนักโทษคนอื่น ๆ มากมายที่เข้ามาใหม่ และปล่อยตัวออกไป คดีนี้เป็นเพียงความคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เพียงแต่มีการตีความเกินไปกว่าถ้อยคำที่ปรากฏเพื่อเอาผิดให้ได้ ผมทำหน้าที่สื่อมวลชนในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารโดยสุจริตใจ ผมจึงมั่นใจว่าจะได้รับการปล่อยตัวในที่สุด แต่แล้วเมื่อ 23 มกราคม 2556 ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี บวกกับคดีหมิ่นประมาทที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปีด้วยกัน

ผมคิดทบทวนอยู่หลายวัน ความทุกข์ทรมานเจ็บปวดแทบสิ้นชีวิต ทำให้ผมคิดจะฆ่าตัวตายให้พ้นไปจากความทุกข์เหลือคณานับในครั้งนี้ มีเพียงนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายมาบอกให้ผมต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด แม้ว่าในชั้นการอุทธรณ์ และฎีกา อาจจะยืดเยื้อถึง 5 – 6 ปีก็ตาม โดยมี คุณวสันต์ พานิช เป็นทนายความอีกคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการโต้แย้งคดีในชั้นศาลอุทธรณ์

ผม คิดทบทวนอยู่หลายวันว่าการตัดสินใจของผมนั้นถูกหรือผิดกันแน่ ? ผมเลือกข้างผิดไปแล้ว ดูซิติดคุกมา 2 ปีแล้ว ยังประกันตัวไม่ได้ คนอื่น ๆ เขาได้ตำแหน่งสุขสบายกันไปหมดแล้ว ?

อุดมคติกินไม่ได้ สู้ไปติดคุกฟรี สารภาพไปเถอะ อยู่ไม่กี่ปีก็ได้ออกจากคุกไปเร็วกว่าสู้คดีอีก ถ้าสารภาพป่านนี้คงได้ออกจากคุกแล้ว ?

การต่อสู้คดีเป็นการท้าทาย ผมเตือนคุณแล้ว กองเชียร์ไม่ได้ติดคุกด้วย สู้ไปข้างหน้าติดคุกยาวแน่ ?

2 ปี แห่งความทุกข์ทรมานที่ผ่านมากับอีก 9 ปีข้างหน้าเป็นเดิมพันชีวิต ด้วยอิสรภาพทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณของผม ผมไม่รู้ว่าจะหมดลมหายใจเมื่อใด เมื่อต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่หลังกำแพงขัง และอยู่ในกรงขังเหล็กที่แน่นหนา

ไม่ว่าจะตายหรือเป็น ผมยังมั่นใจในความบริสุทธิ์ ช่วยผมหาคำตอบจากคำถามที่ผมคิดทบทวนอยู่หลายวันด้วยเถิด ... !!!

2 ความคิดเห็น:

  1. สดุดีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณคิดไม่ผิดหรอกครับ
    forum.banrasdr.com/showthread.php?tid=22725

    ผมได้อ่านจดหมายเปิดผนึกที่แสดงถึงความในใจอันเจ็บปวดของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวอักษรแต่ละตัวที่กลั่นออกมาเป็นเนื้อความในจดหมายที่เขียนออกมานั้น ได้สะท้อนถึงความรู้สึกอันปวดร้าวที่อยู่ภายในของชายหนุ่มผู้กร้าวแกร่งคนหนึ่งชื่อที่ชื่อสมยศ นี้

    ผมเริ่มได้รู้จักชื่อคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อหลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งเป็นประชาชนคนไทยรุ่นแรกๆ ที่กล้าออกมายืนหยัดประท้วงการรัฐประหารของคณะ คมช. ในเวลานั้น เป็นความหาญกล้าของลูกผู้ชายคนหนึ่งที่ยากนักจะหาผู้ใดจะกระทำได้ในห้วงเวลาที่อำนาจ​เผด็จการกำลังเหิมเกริมจนถึงขีดสุด หลายๆ ต่อหลายครั้งที่ผมได้ยินและได้ฟังการปราศัยบนเวทีของผู้ชายที่ชื่อ สมยศ ท่านนี้ ซึ่งมีลีลาและเนื้อหาที่เผ็ดร้อน ตรงประเด็นอย่างกล้าหาญ จนทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกฮึกเฮิม และมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอำนาจของ คมช. ท่ามกลางกระแสเผด็จการเชี่ยวกราก ที่กำลังครอบประเทศอยู่ในเวลานั้น ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นอิสระชนผู้หนึ่งที่จุดประกายของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งแท้จริง

    ผมเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความเคารพ นับถือในความกล้าหาญ และเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข นี้อย่างยิ่ง เพราะผมเองแม้จะร่วมต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมานาน แต่ก็ยังไม่อาจหาญยืนหยัดและเปิดเผยได้เท่ากับที่คุณสมยศ ได้กระทำ

    เนื้อหาในจดหมายของคุณสมยศ ฉบับนี้กระเทาะเปลือกให้เห็นถึงความอยุติธรรม ที่มีอยู่ในประเทศนี้อย่างแท้จริง คุณสมยศ ได้ร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์การต่อสู้และอุดมการณ์อันแน่วแน่มั่นคงของท่านให​้เห็นได้อย่างกระจ่างชัด แต่ในที่สุดท่านได้เขียนวลีที่เหมือนจะตัดพ้อ หรือประชดประชันในความไม่ยุติธรรมที่ท่านได้รับว่า “ผมคิดผิดไปแล้ว” คุณสมยศ ได้บรรยายถึงความทุกข์ยากเจ็บปวดที่ท่านได้รับทั้งทางกายและจิตใจ ทั้งสภาพภายในเรือนจำและจากการกระทำของผู้ใกล้ชิด ซึ่งเมื่อใครก็ตามได้อ่านมาถึงตรงนี้ก็อดไม่ได้ที่จะ “หลั่งน้ำตา” ให้กับความทุกข์ยาก และความปวดร้าว ที่บุรุษผู้หาญกล้าท่านนี้ได้รับ

    ในฐานะที่ผมก็เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมในอุดมการณ์ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเฉกเช่นเดียวกับที่คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต่อสู้อยู่ แม้ว่าผมจะไม่หาญกล้าพอที่จะเปิดเผยตัวตนได้มากเท่ากับที่คุณสมยศ กระทำ ผมก็ขอสดุดี ยกย่อง และให้เกียรติ์ ต่อผู้กล้าท่านนี้ แม้จะเป็นเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่ง แต่ก็ขอให้กำลังใจต่อคุณสมยศ และบอกดังๆ ไปถึงคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข (ถ้าท่านมีโอกาสได้รับทราบ) ว่า “คุณสมยศ ครับ คุณคิดไม่ผิดหรอก” .. ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนี้

    ปูนนก

    ตอบลบ
  2. ผมเชื่อว่าขณะที่คุณสมยศ กำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ คุณสมยศ กำลังอยู่ในสภาวะทางอารมณ์ ความรู้สึกที่ปวดร้าว สิ้นหวัง เจ็บปวดต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อชีวิตของท่าน เป็นความทุกข์ระทมอย่างหาทางออกไม่ได้ และเมื่อมองไปรอบตัว สิ่งที่ตนเองได้รับเทียบไม่ได้เลยกับนักต่อสู้เรียกร้องท่านอื่นๆ ที่อาจจะไม่ต้องลำบากติดคุกหรือถูกจำขัง และที่สำคัญบางคนมีตำแหน่งร่ำรวยเงินทองไปเสียอีกด้วย ในขณะที่ตัวของคุณสมยศ เองกลับต้องคำพิพากษาต้องโทษจำขังถึง 11 ปี แล้วยังเป็นหนี้ปรับถึง 100,000 บาท ทำให้ตัวท่าน และครอบครัวต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

    คุณสมยศ ครับ คุณมีจิตวิญญาณแห่งการรักความเป็นธรรม (ประชาธิปไตย) อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งคุณได้แสดงให้เห็นตลอดมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน คุณค่าของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย (ซึ่งเพื่อนบางคนของคุณสมยศ ใช้คำว่า “อุดมการณ์”) สำหรับคุณสมยศ แล้วคุณตีราคาความเป็นประชาธิปไตยไว้เท่าไรครับ... บางคนตีราคาประชาธิปไตยสำหรับเขา เท่ากับเงินจำนวนหนึ่ง (ก็ขายได้แล้ว) บางคนตีราคาประชาธิปไตยสำหรับเขาเอาไว้ เท่ากับตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่ง (ก็ขายได้แล้ว) แต่สำหรับบางคนตีค่าราคาประชาธิปไตยสำหรับเขาเอาไว้มากเท่ากับ “ชีวิต” ของเขาเอง สำหรับคนกลุ่มสุดท้ายนี้ เขาจะไม่ยอมเอาสิ่งใดมาแลกกับประชาธิปไตยตามอุดมการณ์แห่งความคิดของเขา และผมเชื่อว่า “คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข น่าจะเป็นคนในกลุ่มนี้”

    คุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ แก่ๆ ท่านหนึ่ง หาญกล้าขับรถแท็กซี่เข้าชนกับรถถังทหาร เพื่อแสดงความไม่พอใจและต่อสู้กับเผด็จการตามวิธีที่ท่านทำได้ และเมื่อได้รับคำปรามาส จาก รองโฆษก คมช. ว่า “ไม่มีใครสามารถตายได้เพื่ออุดมการณ์” ท่านก็แสดงให้เห็นว่าคนเช่นนั้นมีจริง และท่านก็ได้ผูกคอตาย โดยได้เขียนจดหมายทิ้งเอาไว้ว่า “ถ้าเกิดชาติหน้าขออย่าให้เกิดในประเทศที่มีรัฐประหารอีกเลย” แม้คุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ทว่าชื่อเสียงของท่านจะไม่มีวันจางหายไปจากหัวใจของนักประชาธิปไตยในประเทศนี้

    จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดนักเขียนที่เรียกร้องความยุติธรรมและอุดมการณ์ประชาธิปไตย อาวุธของท่านมีเพียงสิ่งเดียวคือ ปากกา แต่ทว่าด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ของท่าน ท่านไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการใดๆ แม้ว่าในยุคนั้นประเทศไทยจะถูกปกครองด้วยอำนาจของคณะปฏิวัติในยุคของ จอมพล สฤษฎิ์ ธนะรัตน์ แต่จิตร ภูมิศักดิ์ ก็มิได้หวั่นเกรงแม้จะต้องติดคุก ถูกทำร้าย ในที่สุดท่านก็ต่อสู้จนเสียชีวิต ที่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ที่ จ. สกลนคร ซึ่งจนถึงวันนี้ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ยังคงถูกกล่าวขานตลอดมา

    เนลสัน แมนเดลล่า ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ต้องโทษจำคุกอยู่ถึง 27 ปี ในเกาะเล็กๆ ในห้องขังเล็กๆ แคบๆ ที่เกาะ ร๊อบบิน เพราะเขาต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม และเท่าเทียมกันของชนผิวดำ และชนผิวขาว และในที่สุดการต่อสู้ของท่านก็ได้รับการยกย่อง และเป็นแบบอย่างของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมไปทั่วโลก

    เช กาเบรา นักต่อสู้เพื่อประชาชน และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนยากไร้ในอเมริกาใต้ แม้ว่าจะเป็นแพทย์ แต่ เช กาเบรา ก็เป็นนักต่อสู้อำนาจเผด็จการเพื่อความยุติธรรมของประชาชนในอเมริกาใต้ และด้วยการต่อสู้นี้เองทำให้เขาถูกกองกำลังโบลิเวียจับ และสังหาร อีกทั้งยังทำลายศพ จนไม่มีใครจำได้ แม้ปัจจุบันก็ไม่มีใครรู้ว่าร่างของ เช กาเบรา อยู่ที่ใด เรื่องราวของ เช กาเบรา ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวอเมริกาใต้ที่ปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการครอบงำของเผด็จก​ารในทุกๆ รูปแบบ

    คุณสมยศ ครับ ยังมีตัวอย่างของนักสู้เพื่อความยุติธรรมอีกมากที่ต้องเจ็บปวด ทุกข์ยาก และอาจจะถึงกับสูญเสียชีวิต เพียงเพราะอุดมการณ์การต่อสู้ที่เขายึดมั่น ไม่ว่าจะเป็น โฮจิมินท์, เหมาเจ๋อตง, มหาตะมะ คานธี หรือแม้กระทั่งนักรบนิรนาม ที่เสียชีวิตที่ราชประสงค์ คนเหล่านี้ถ้าได้ศึกษาชีวิตของเขาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าพวกเขา “ยอมตาย” ดีกว่าที่จะยอมขาย อุดมการณ์ความยุติธรรมที่เขายึดมั่น

    ปูนนก

    ตอบลบ