วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

ข้อมูล "ใหม่" : คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของ วีระ มุสิกพงศ์ ปี 2531 : สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ข้อมูล "ใหม่": คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของ วีระ มุสิกพงศ์ ปี 2531 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักราชเลขาธิการ ติดต่อศาล เรื่องคดี


ก่อนอื่น ผมต้องขออธิบายชื่อหัวข้อ ที่ผมใส่คำว่า "ใหม่" (ในเครื่องหมายคำพูด) สักเล็กน้อย

เอกสาร สำเนาจดหมายจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สำนักราชเลขาธิการ ที่ผมนำมาแสดงนี้ อันที่จริง เป็นเอกสารที่ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2531 แต่เนื่องจากสมัยนั้น ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือการทำเอกสารให้เป็นไฟล์ภาพดิจิตอลเก็บรักษาไว้ ในการเผยแพร่สมัยนั้น ก็จะต้องใช้วิธีถ่ายสำเนาแจกจ่ายแบบลับๆ เช่น ส่งเป็นจดหมาย หรือวางเป็นใบปลิวในที่สาธารณะบางแห่ง ซึ่งโดยรวมแล้วก็สามารถทำได้ในขอบเขตที่จำกัดมาก และถ้าไม่ถูกเก็บรักษาไว้ ก็ง่ายจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิงได้ ผมเองก็เพิ่งได้เคยเห็นเอกสารนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเร็วๆนี้ จากการที่มีผู้ไปค้นพบสำเนาเอกสารนี้ฉบับหนึ่ง ที่มีบางคนเก็บรักษาไว้ตั้งแต่สมัยนั้น (พูดอีกอย่างคือ เครดิตในการค้นพบเอกสารนี้ ไม่ใช่ของผม ผมเพียงแต่เป็นผู้นำมาเสนอ เพราะผู้ค้นพบ ไม่อยู่ในฐานะที่จะนำเสนอเองได้)

ดังนั้น ถ้าจะพูดกันจริงๆ เอกสารนี้ ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ "ใหม่" เสียทีเดียว คือ คงมีคนจำนวนหนึ่งไม่มากนัก ที่เคยเห็นตั้งแต่สมัยนั้น เพียงแต่ (เท่าที่ผมทราบ) ตลอด 20 กว่าปีนี้ คงแทบจะไม่มีใครได้เห็นอีก หรือที่แน่ๆ ไม่ได้มีการเผยแพร่กันอีก

ผมนำมาเผยแพร่ในที่นี้ โดย "เซ็นเซอร์" ชื่อผู้รับจดหมาย ซึ่งเป็นหนึงในคณะตุลาการพิจารณาคดีวีระ มุสิกพงศ์ ("แถบดำ" แรกสุด), ชื่อของนายทหารระดับสูงในขณะนั้น (ปัจจุบันก็ยังอยู่ในแวดวงราชสำนัก) ที่ผู้เขียนจดหมายอ้างถึง ("แถบดำ" ที่สอง) และ เบอร์โทรศัพท์, ลายเซ็น, ชื่อ และตำแหน่งของผู้ส่งจดหมายเอง ("แถบดำ" ที่เหลือ)

เอกสารนี้มีความสำคัญมากในแง่ที่เป็นหลัก ฐานยืนยันถึงปรากฎการณ์ที่มีผู้พูดกันมากโดยเฉพาะในระยะหลังๆนี้คือ เรื่องการ "อ้างสถาบันกษัตริย์" (หรือถ้าใช้สำนวนสมัยนี้ คือ บทบาทของ "อำมาตย์" ในการ "อ้าง สถาบัน")

ดังที่ผู้อ่านจะเห็นได้จาก เอกสาร, ผู้เขียนจดหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักราชเลขาธิการ ได้อ้างว่า แม้การฟ้องร้องวีระ มุสิกพงศ์ จะ "ไม่ได้เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง" แต่ผู้เขียนจดหมาย "ขอเรียนยืนยันว่าพระองค์ท่านคงไม่พอพระราชหฤทัยอยู่เป็นอันมาก เพียงแต่ไม่ทรงมีพระราชกระแสออกมาโดยตรงเท่านั้น" ซึ่งในปริบทของข้อความ เห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนจดหมาย ต้องการจะอ้างว่า ในหลวง "คงไม่พอพระราชหฤทัย" เกี่ยวกับการกระทำของวีระ มุสิกพงศ์ "เป็นอันมาก" แม้ว่า พระองค์ จะ "ไม่ทรงมีพระราชกระแส" หรือไม่ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ออกมา "โดยตรง" ที่จะให้ดำเนินคดีกับวีระ ก็ตาม

แน่นอน ถึงที่สุดแล้ว ลำพังจดหมายฉบับนี้ เราไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่เพียงใด และไม่สามารถบอกได้ว่า การเขียนจดหมายถึงตุลาการในคดีในลักษณะนี้ มีผลหรือไม่เพียงใด ต่อการวินิจฉัยและตัดสินคดีของตุลาการ

สิ่ง ที่เอกสารนี้ยืนยันและสนับสนุน ในทัศนะของผม คือ ความจำเป็นของการที่ต้องมีการปฏิรูปสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์โดยรวม (ซึ่งรวมถึงองค์กรและบุคคลากรที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์) ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ของการ "อ้าง" ได้

เพราะถ้าสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้มีสถานะและอำนาจที่มีลักษณะพิเศษ นอกเหนือการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆอย่างที่เป็นอยู่ (รวมทั้งการโฆษณาปลูกฝังข้อมูลด้านเดียว ในระบบโรงเรียนและชีวิตประจำวัน) ก็ไม่มีประโยชน์ หรือความจำเป็น ที่ใครจะคิด หรือสามารถจะนำไปอ้างใดๆได้ เช่นเดียวกับในประเทศประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์อืนๆ ที่ไม่มีใครคิดจะอ้างสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่เรื่องอย่างการเขียนจดหมายแบบนี้ ไปถึงเรื่องการทำรัฐประหาร อย่างในประเทศไทย

 

...........................................................................................................


บันทึกท้ายบทความ : แดงเจียงใหม่
 
อ่านความคิดเห็นประเด็นเด็ด ได้ที่เพจ อ.สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล



...........................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น