วันที่ 2 พ.ย. 2553 เวลา : 16:27 น.
ผู้เขียน : อริน เจียจันทรพงษ์, ทองนากศิริวิ เหล่าวงษ์โคตร
"การวิ่งเต้นแบบที่รู้จักใคร หรือ "เส้นใคร" นั้น มันสะท้อนว่า คนกำหนดนโยบาย หรือคนกำหนดตัดสินชะตาของประเทศ มีอยู่ไม่มาก คือ สามารถวิ่งกับผู้ใหญ่บางคน ผู้มีอำนาจบางคน หรืออ้างอิงคนบางคน แล้วก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทำให้สังคมมันข้ามกฎหมายหรือมาตรฐานบางอย่างได้ ซึ่งการล็อบบี้ที่ไม่โปร่งใส ต่อรองแบบที่สังคมรับไม่ได้แบบนี้ สะท้อนว่าการตัดสินใจในการเมืองไทยอยู่ที่คนไม่กี่คน"
มติ ชนออนไลน์นำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษ ผ่าโครงสร้างการเมืองไทย ผ่าน"คลิปฉาว"..ล็อบบี้ยิสต์แห่งอำนาจ ประชาธรรมเห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในขณะนี้ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้
การวิ่งเต้น ล็อบบี้ (Lobby) และการต่อรอง (Negotiate) ใน สังคมไทย ความหมายของคำเหล่านี้ที่ผ่านสื่อ ค่อนข้างออกไปในทางลบ เพราะมีการรายงานปรากฏการณ์การวิ่งเต้นตั้งแต่ระดับเล็กไปถึงระดับใหญ่ ตั้งแต่ลูกเข้าโรงเรียนจนถึงงานประมูลโครงการต่างๆ
คนกลาง (Mediator) ที่ จะต้องวิ่งเข้าหาเพื่อแลกผลประโยชน์ของตนเองนั้น มักจะเป็น เจ้าพ่อ ผู้ใหญ่ ผู้มีอิทธิพล หรือผู้ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ
ล่า สุด กรณี "คลิปหลุด" ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีระดับประวัติศาสตร์การเมืองไทย กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการพูดคุยที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งระหว่างเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และคนของพรรคประชาธิปัตย์ จนกลายเป็นเรื่อง ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์
ใน เวทีเมืองของนานาอารยประเทศ การล็อบบี้ การผลักดัน (Advocacy) ถือ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง เพียงแต่เงื่อนไขในการล็อบบี้และบริบทของระบอบการเมือง มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมนั้นๆ ด้วย
"มติ ชน" มีโอกาสนั่งคุยกับ "เวียงรัฐ เนติโพธิ์" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมไทยที่มีตัวกลางทำหน้าที่ขับเคลื่อน กลไกทางการเมือง ได้ช่วยอธิบายถึงกลไกดังกล่าว พร้อมกับฉายภาพให้เห็นความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ ในขณะนี้...
การล็อบบี้ในสังคมการเมืองไทย อะไรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลไกนี้แตกต่างกับต่างประเทศ และติดลบตลอด
การ ล็อบบี้ การผลักดัน (Advocacy) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเมืองปกติในสังคมพหุนิยม (pluralism) ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit Organization) เช่น กลุ่มสิทธิมนุษยชน กลุ่มสิ่งแวดล้อมจะใช้วิธีนี้ผลักดันประเด็นทางสังคม เขาต้องมีนักล็อบบี้ เพื่อไปผลักดันนโยบายกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งก็ไม่ได้มีความหมายในทางลบ อย่างที่เราเห็นว่าในอเมริกาก็มีอาชีพล็อบบี้ยิสต์ ล็อบบี้ในไทย ในความหมายที่เป็นกลางไม่ใช่ลบก็มี เช่น กลุ่มภาคธุรกิจ กลุ่มเอ็นจีโอ หรือองค์กรที่ทำงานสาธารณะ เช่น สสส. ก็มีการผลักดันสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็พยายามเข้าถึงผู้กำหนดนโยบาย และนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจ
"การ วิ่งเต้น" ก็เป็นอีกคำหนึ่งของการล็อบบี้ ซึ่งมันก็อยู่ในกระบวนการทางการเมืองทุกขั้นตอนของไทย เกี่ยวพันทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับกระบวนการทางการเมืองอื่นๆ เช่น ไปใช้สิทธิลงคะแนน การแสดงความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ แถมเป็นส่วนสำคัญสุดของกลไกทางการเมืองของไทยด้วยซ้ำไป การวิ่งเต้นในแบบนี้ไม่จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสิน ใจของผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบาย แต่การวิ่งเต้นหมายถึงว่าจะเข้าถึง "ใคร" และอ้างอิงถึง "ใคร" ต่างหาก เวลานักการเมืองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหาเสียง เขาก็บอกว่า ผมมีความสามารถในการ "วิ่งงบ" เพราะมีความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในกรม ในกระทรวง หรือแม้แต่ในพรรคการเมืองที่ดูและกระทรวงนั้นๆ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ ส.ส.ได้รับความนิยม ก็ดึงบุญมาลงในพื้นที่ได้มาก ที่เราบอกว่ามันมีความหมายในทางลบ โดยเฉพาะในสายตาของสื่อ ก็เพราะว่ามันไม่โปร่งใส เราไม่รู้ว่าเขาคุยกันอย่างไร และมองว่ามันอาจจะมีการแลกเปลี่ยนกันโดยที่สังคมไม่อาจรู้ได้ เช่น ผมให้คุณ 50% นะ ถ้าเรื่องนี้ผ่าน หรือรับประกันคะแนนเสียงครั้งหน้าให้ หรือแม้แต่ได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเรื่องที่ขออาจจะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจหรือผิดกฎหมายก็ได้ หรือบางครั้งเลวร้ายยิ่งกว่า แต่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ การต่อรองอาจจะแลกด้วยการปกป้องให้พ้นผิด หรือลบล้างความผิดให้ทั้งๆ ที่เป็นความผิดในทางกฎหมาย ซึ่งอันนี้แตกต่างจากล็อบบี้ในความหมายของประเทศพหุนิยมอื่นๆ
ของไทยไม่ใช่พหุนิยม และคนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนในการเข้าไปตัดสินใจในเรื่องใดๆ กับรัฐด้วย
ใช่ การวิ่งเต้นแบบที่รู้จักใคร หรือ "เส้นใคร" นั้น มันสะท้อนว่า คนกำหนดนโยบาย หรือคนกำหนดตัดสินชะตาของประเทศ มีอยู่ไม่มาก คือ สามารถวิ่งกับผู้ใหญ่บางคน ผู้มีอำนาจบางคน หรืออ้างอิงคนบางคน แล้วก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทำให้สังคมมันข้ามกฎหมายหรือมาตรฐานบางอย่างได้ ซึ่งการล็อบบี้ที่ไม่โปร่งใส ต่อรองแบบที่สังคมรับไม่ได้แบบนี้ สะท้อนว่าการตัดสินใจในการเมืองไทยอยู่ที่คนไม่กี่คน
คนจำนวนไม่น้อยคิดว่านี่เป็นเรื่องวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์
ไม่ ใช่ซะทีเดียว ดิฉันเองเชื่อว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างอำนาจรัฐกับ สังคมมากกว่า คือตั้งแต่พัฒนามาเป็นรัฐสมัยใหม่ รัฐไทยไม่ได้สร้างขึ้นจากกฎหมาย ไม่ได้สร้างรัฐขึ้นมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบปฏิวัติถอนรากถอนโคน ไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อการปลดแอกจากอาณานิคม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจรัฐโดยกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นแวดวงเล็กๆ เท่านั้น ตั้งแต่สมัยรัฐในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มา จนมาถึงการเปลี่ยนรูปแบบเป็นประชาธิปไตยในปี 2475 คือเริ่มจากการทำให้เป็นรัฐสมัยใหม่ สร้างกลไกระบบราชการ การตัดสินใจอยู่ในวงจำกัด และพัฒนามาเรื่อยๆ มีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้น มีการให้ส่วนร่วมประชาชนมากขึ้น แต่วิธีการปฏิบัติการทางการเมืองก็ยังอยู่ในวงจำกัดเช่นเดิม สังคมแบบนี้ที่มันดำรงอยู่ได้เพราะคนจำนวนมากถูกทำให้อยู่ห่างศูนย์กลาง อำนาจรัฐ เป็นโครงสร้างที่มีผู้เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐจำนวนจำกัด และคนเหล่านั้นสามารถที่จะบรรลุผลทางการเมืองได้อย่างราบรื่น เพราะมีผู้มีอำนาจอยู่ไม่กี่คน แต่ปัจจุบันการเมืองไทยมันเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงมีความขัดแย้งระหว่างการเมืองแบบเก่าซึ่งขอเรียกว่าแบบสถิต กับ การเมืองแบบที่คนจำนวนมากมีส่วนในอำนาจทางการเมืองผ่านทางการเลือกตั้ง ซึ่งขอเรียกว่าแบบพลวัต
จุดแบ่งของการเมืองแบบนี้คืออะไร และต่างกันอย่างไร
จุด สำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือ กระบวนการเลือกตั้งที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตประชาชนกับการกระจายอำนาจ การเมืองแบบเลือกตั้งมันไปเปลี่ยน ไอ้การเมืองที่มีกลไกแบบคนตัดสินใจเพียงไม่กี่คน สิ่งแรกเลยการลงคะแนนเสียงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองที่ตรงข้าม กับการวิ่งเต้น ทั้งจำนวนคน ความโปร่งใส การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และการมีตัวเลือกมากกว่าหนึ่ง แม้ว่าเราจะยังใช้วิธีการแบบวิ่งเต้นอยู่ในการเมืองแบบนี้ แต่การต่อรองแลกเปลี่ยน หรือการอ้างอิง มันจะต้องพ่วง ฐานคะแนนเสียง จำนวนคนเลือกตั้ง มวลชน อะไรแบบนี้เข้าไปในการต่อรองด้วยเสมอ ส่วนประชาชนก็มีตัวเลือก วิ่งหัวคะแนนคนนี้ไม่ได้ก็ไปวิ่งอีกคน ถ้าครั้งนี้ไม่มีตัวเลือก การเลือกตั้งครั้งหน้าก็ต้องมีตัวเลือก ประชาชนเหล่านั้นจึงเห็นว่าตัวเขาเองเป็นตัวกำหนด ไม่ใช่นั่งรอความปรานีจากผู้มีอำนาจ ผลสำเร็จทางการเมืองที่เห็นได้จากอำนาจของผู้เลือกตั้งคือพลวัตที่สำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อการเมืองแบบพลวัตแบบนี้มันใหม่มากแค่ 10 กว่าปี เทียบกับการเมืองแบบสถิตที่มีมากว่าร้อยปี จึงยังมีคนจำนวนหนึ่งอยากใช้วิธีแบบเก่า เพราะมันเร็ว ราบรื่น ไม่วุ่นวาย สำหรับคนที่มีส่วนในการตัดสินใจ จึงยังคงเป็นแนวโน้มของการต่อสู้ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้
การล็อบบี้ที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้ระบบการเมืองแบบใหม่ เพราะเงื่อนไขที่ว่าผลประโยชน์มันถูกแบ่งไปที่ประชาชนมากกว่าเดิมหรือเปล่า
แน่ นอน เพราะการต่อรองนั้นมันมีการอ้างอิงถึงผลประโยชน์ที่ตกแก่คนจำนวนมาก แม้จะไม่ใช่ผลประโยชน์จำนวนมากนะ แต่มันเกี่ยวกับคนจำนวนมากแน่ๆ กลไกแบบนี้มันไม่ได้เปลี่ยนแบบฉับพลัน มันมีเจรจาผ่านผู้ใหญ่ในแบบเดิมๆ อยู่ แต่ในการเจรจามันจะต้องอ้างอิงถึงคะแนนเสียงด้วย ซึ่งอันนี้แหละที่เรียกว่าพลวัต เพราะมันไม่ได้ง่ายๆ และมั่นคงแบบเดิม มันต้องมีการประเมินมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในที่สุดมันจะนำไปสู่การเจรจาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง ยกตัวอย่าง เรื่อง การใช้งบประมาณตัดถนน ที่ผ่านการล็อบบี้ของนักการเมือง บริษัทที่ได้งานเป็นของพรรคพวก แต่การก่อสร้างสิ่งสาธารณะ หลักการต้องทำให้ดี เพราะถ้าสร้างไม่ดี 4 ปีข้างหน้าอาจจะไม่ได้รับเลือก นี่ถือว่าเกิดพลวัต ฐานคะแนนเสียง 5 พัน หรือ หมื่นคนถือว่าไม่น้อยถ้าไม่ตอบสนองฐานตรงนี้ การเลือกตั้งภายใน 2 หรือ 4 ปีข้างหน้ามีปัญหาแน่ นี่เป็นคำตอบที่ว่าผลประโยชน์มันถูกแบ่งให้ประชาชนมากกว่าเดิม
อย่างไรเสียการเมืองไทยก็ยังต้องอาศัย"คนกลาง"อยู่ดี
แน่ นอน ในความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน มันมีตัวกลางมาตลอด ตัวกลางคือ ผู้ใหญ่ ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ เสี่ย คนที่มีเส้นสายเยอะ ฯลฯ พวกนี้จะทำหน้าที่ตลอดเวลา สมมุติเรามีปัญหาคดีความ เราไม่ได้เดินขึ้นไปโรงพัก ไปคุยกับตำรวจ แต่เรากลับไปต้องคิดจะพึ่งใครได้บ้าง จะหาใครไปช่วยคุยกับตำรวจให้ เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตชาวบ้านต้องอาศัยตัวแทน และต้องรู้ด้วยนะว่าจะพึ่งใครได้ สำหรับ "ตัวกลาง" ที่ถนัดจะทำแบบเดิม ก็ต้องรักษาอำนาจแบบเดิมไว้ กันไม่ให้คนจำนวนมาก เข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมืองแข่งกับเขา อำนาจการเจรจาจะต้องไม่ถูกแชร์ไปให้คนอื่น เพราะจะเท่ากับตัวเองสูญเสียอำนาจ ซึ่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในทุกระดับ ทำให้ความสัมพันธ์ของคนกลางกับประชาชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะรู้ว่าเขามีอำนาจในการเลือกคนและแน่นอนเขาเลือกที่จะใช้คนที่เขาพึ่ง พิงได้มากกว่าพึ่งพิงคนกลางในระบอบเดิมๆ การเมืองได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตของพวกเขา และประชาชนเริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
กรณีคลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการพูดถึงการล็อบบี้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ล่ะ
ใน สมัยหนึ่งเราเคยคิดว่าพึ่งศาลได้ เป็นธรรมกับทุกคน เราเคารพในความศักดิ์สิทธิ์นั้น คนไทยเคยต้องการที่พึ่งพิง ที่เป็นอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเหมือนกับศาลเจ้าพ่อ คุณถือธูปเทียนดอกไม้ไปไหว้ คุณไม่รู้ว่าท่านจะให้ประโยชน์อะไร ได้แต่รออย่างมีความหวังว่าท่านศักดิ์สิทธิ์จริงจะดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ เราขอได้ ศาลยุติธรรมสมัยก่อนเราก็คิดว่าศักดิ์สิทธิ์ คำตัดสินของศาลเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เราจะไม่ตั้งคำถาม แต่ตอนนี้มันเริ่มเปิดเผยมากขึ้นว่ามันอาจมีอะไรที่ไปทำให้ผลมันเปลี่ยนแปลง ได้ คดีเดียวกัน ตัดสินใจคนละแบบ ฉะนั้นจึงเริ่มเสื่อม ความเสื่อมถอยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากเกิดขึ้นแล้ว ยากจะกลับไปปลุกเสกให้กลับมาศักดิ์สิทธิ์ได้อีก หากจะฟื้นฟูก็ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมใหม่
เรื่อง คลิปที่ว่านี้ มันควรจะเป็นความผิดที่ร้ายแรง เพราะคนที่เป็นคู่กรณีในศาลมาคุยกัน น่าจะเป็นอาญาแผ่นดิน แต่บางท่านบอกว่า คนปล่อยคลิปเป็นอาญาแผ่นดิน เฮ้อ.. (เสียงถอนหายใจ) ถ้าเป็นอย่างนี้ ต่อให้มีอีกกี่คลิปก็คงไม่สะเทือน เรื่องนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2553 บางคนบอกว่าเป็นการจัดฉาก แต่ดิฉันเห็นว่าจัดฉากยังไง คนที่มีคดีในศาลก็ไม่ควรมาเจอกันและหารือกันอย่างนี้
แล้วเราจะตรวจสอบการ"ล็อบบี้"ได้ไหม
ใน สังคมที่ส่วนแบ่งอำนาจอยู่กับคนจำนวนมาก อะไรๆ ก็ไม่ได้มาด้วยการวิ่งเต้นหรือล็อบบี้แบบง่ายๆ มันต้องคุยกันเยอะ ความวุ่นวาย ความไม่ลงตัวก็เกิดขึ้น ไม่รู้จะเอาอะไรตัดสิน ในที่สุดก็ต้องหากฎเกณฑ์ที่ใช้ได้ทั่วไปนั่นคือ กฎหมายที่ใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นสังคมอยู่ไม่ได้ การแสวงหากฎระเบียบและกฎหมายที่ใช้ได้แบบมีมาตรฐานเดียวกันเป็นคำตอบว่าทำไม ในการเมืองแบบสถิตมันถึงข้ามเรื่องกฎหมายไปได้ เพราะมันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อะไรเป็นมาตรฐานในเมื่อการตัดสินใจมัน อยู่ที่ ใคร เป็นคนตัดสินเท่านั้นเอง ถ้าการเลือกตั้งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจแบบนี้ การล็อบบี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบนี้ได้ เพราะประชาชนก็ต้องรู้ว่า ทำไมคุณไปล็อบบี้เรื่องนี้ เมื่อสำเร็จแล้วใครจะได้ประโยชน์ เพราะคนผลักดันก็ต้องไปหาเสียงกับประชาชนด้วย เช่น ล็อบบี้ให้เกิดกฎหมายนี้แล้วจะเป็นประโยชน์กับคุณ หรือเราล็อบบี้เพื่อให้เกิดการค้าคล่องตัวเป็นประโยชน์กับสมาคมอุตสาหกรรม แม้ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่มีผลดีกับคนในวงกว้าง การเจรจาต่อรองมันก็ต้องเปิดเผย และท้ายที่สุดข้อเรียกร้องต่อรองก็จะไม่ใช่สิ่งที่เป็นทางลบหรือไม่ชอบมาพา กล เพราะการต่อรองในสังคมที่เปิดกว้างแบบนี้ แม้ว่าผลประโยชน์จะตกกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องมีความพยายามไม่ให้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบด้วย หากจะมีเพราะการปกปิดข้อมูลข่าวสาร สุดท้ายก็ต้องถูกเปิดเผยออกมาอยู่ดี
แต่ทำไมแนวโน้มแบบนั้นจึงไม่ค่อยเห็นในสังคมไทย
ก่อน ที่เราจะได้เห็นการเมืองแบบนั้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กลับมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะคงการเมืองแบบเดิมเอาไว้ เพื่อที่คนจำนวนน้อยจะคุมอำนาจได้ เอ็นจอยที่จะใช้การเมืองแบบเดิมอย่างสนุกสนาน ใช้คนไม่กี่คน ...เอ้าไปเรียกนักวิชาการของเรามาซัก 2 คน เอ้าไปเอาประธาน กกต.มาให้ได้ โอ้โห... พูดกันเหมือนพูดในครอบครัวไม่กี่คน หรืองบฯทหารจำนวนมหาศาล ใครตรวจสอบ เรารู้กันหมด แต่เราทำอะไรไม่ได้ เพราะมันไม่ได้อ้างอิงอะไรกับเราเลย
สังคมไทยก็ผ่านกระบวนการเลือกตั้งและมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยมาเรื่อยๆ แล้วทำไมจึงมีแนวโน้มแบบเก่าอีก
ความ พยายามที่จะใช้การเมืองแบบสถิตในบริบทที่กลไกการเลือกตั้งมีผลต่อชีวิตของ ประชาชนจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการใช้สถาบันหลักๆ ทางสังคมที่ศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง และแตะต้องไม่ได้ให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองให้มากที่สุด เหมือนเอาข้าวสารปลุกเสกมาซัดให้ไพร่ผีแตกกระเจิงออกจากวงจรอำนาจ สถาบันศักดิ์สิทธิ์ที่การเมืองแบบเก่าเอามาใช้ และเป็นปัญหาที่สุดตอนนี้ เช่น ใช้ศาลยุติธรรม ในนามของการ หมิ่นศาล ต่อให้คำตัดสินนั้นกระทบต่อชีวิตประชาชนเพียงไรก็ไม่อาจมีการตรวจสอบหรือ เรียกร้องอะไรได้ หรือการใช้สถาบันทางจารีตประเพณี เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพุทธศาสนา เอามาใช้เพื่อกีดกันประชาชนออกไป ในนามผู้ไม่จงรักภักดี กีดกันนักการเมืองด้วยวาทกรรมที่ว่าคนเหล่านี้ไร้ศีลธรรม คอร์รัปชั่นโกงกิน ใช้กองทัพมาควบคุมความรุนแรง ดังนั้น การเมืองแบบสถิตจึงต้องถูกนำกลับมา
แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมไทยจะเป็นอย่างไร
ถ้า ให้มีการเลือกตั้งต่อไปในบริบทที่อำนาจรัฐกับประชาชนแนบชิดกันแบบที่ผ่านมา นั้น แน่นอน มันมีพลวัตมหาศาล แต่มันมีความวุ่นวาย เพราะมีคนมหาศาลที่ต้องการมาต่อรอง มันไม่ง่ายอีกแล้ว นักการเมืองจะแข่งกันมากขึ้น ชาวบ้านก็จะต่อรองหนักขึ้น ยากขึ้น การเลือกตั้งแข่งสูงขึ้น รุนแรงขึ้น แต่ไม่ใช่แบบเดิมที่คนคนเดียวคุมทั้งภาค แต่จะแชร์ แย่งกัน การแข่งจะไม่ใช่แค่เลือกตั้งแล้ว จะแข่งนโยบาย ต้องแข่งให้คนรู้สึกว่า ได้มากกว่าคู่แข่งอีกคน ณ เวลานี้ มันคือการเมืองแบบสถิต กับการเมืองแบบพลวัต กำลังช่วงชิงกัน จากรัฐประหาร กันยายน 2549 เป็นต้นมา การเมืองพลวัตกำลังถูกทำให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ ถูกกีดกันออกจากพื้นที่ทางอำนาจ ได้แค่จำนวนคนที่ออกมามากมายแต่ไม่ได้มีส่วนแบ่งในพื้นที่ทางอำนาจ โดยพื้นที่ทางอำนาจกลายเป็นการปิดห้องคุยกันในแบบเดิม และพยายามกดการเมืองแบบเลือกตั้งให้มากที่สุด แต่คนที่โดนกดก็ยอมไม่ได้ คู่ขัดแย้งในเวลานี้จึงกลายเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐกับสังคม ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้งที่เท่าเทียมกันเลย
มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการปะทะกันของคน2กลุ่มนี้ไหม
คำ ถามนี้น่ากลัวมาก แต่สงสัยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ (หัวเราะขื่นๆ) มันอาจต้องมีการถอนรากถอนโคนสักครั้งนึง สมมุติว่าถ้าเราเชื่อว่า วัฒนธรรมไทยชอบประนีประนอม มันก็อาจมีทางออกแบบประนีประนอม เจรจาได้ แต่เนื้อหาสาระอาจถอนรากถอนโคนก็ได้ จริงๆ แล้ว การประนีประนอมครั้งสำคัญมีให้เห็นเช่น รัฐธรรมนูญ 2540 ที่หลายฝ่าย หลายกลุ่มพึงพอใจกับการได้มีส่วนร่วม ชนชั้นกลางพอใจที่มี ส.ส.จบปริญญาตรี นักการเมืองก็พอใจที่พรรคการเมืองเข้มแข็ง ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ฯลฯ ซึ่งในรายละเอียดของมันก็ถอนรากถอนโคนโครงสร้างหลายอย่าง และท้าทายการเมืองแบบสถิตมากพอสมควร แต่ถ้า ประนีประนอมไม่ได้ ก็คงเกิดการปะทะกัน เพราะขณะนี้ความขัดแย้งมันสูง ฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจทางการเมืองเลยแต่มีคนจำนวนมหาศาล อีกฝ่ายมีอำนาจจัดการทุกอย่างแล้วไปอ้างอิงกับสถาบัน ..นี่อันตราย การเมืองแบบกล่องดำเช่นนี้จึงเต็มไปด้วยข่าวลือ ความไม่ชอบมาพากล และ conspiracy (การสมคบคิด) นับวันความความขัดแย้งมันก็ยิ่งสูงขึ้นแบบไม่อาจประนีประนอมได้
ความ เป็นไปได้ของการปะทะนั้นเพราะคนจำนวนมากไม่อยากกลับไปเป็นแบบเดิม เขาเคยตัดสินอำนาจรัฐด้วยตัวเอง เขาก็ต้องการอำนาจของเขาต่อไป ถามว่า ปรากฏการณ์ที่คนออกมาบอกว่ายอมตายเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งนั้นฟังดูเหมือน โง่ แต่มันเกิดขึ้นแล้ว เขายอมตายเพื่อไม่ให้สูญเสียอำนาจรัฐที่เขามีอยู่ในมือ อำนาจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเขาและลูกหลานในอนาคต เราอาจจะต้องเริ่มนับถอยหลังการปะทะกันแล้วมั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น