แดงเชียงใหม่

กราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน Blog นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชน รุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา " แดงเจียงใหม่ " ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และ ในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม

เรา " แดงเจียงใหม่ " ขอเชิญชวนร่วมกันสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกัน


"อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง
เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล
ไม่อาจต้านมวลมหาประชาชน"

.

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แถลงการณ์ญาติวีรชนพฤษภา' 35 เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีพฤษภา' 53

Thu, 2010-08-05 19:15


แถลงการณ์จากคณะ กรรมการญาติวีรชนพฤษภา' 35 เรียกร้องนำทหารกลับกรมกอง ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวอย่างคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ เลิกกล่าวหาว่าก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2553 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ได้เปิดแถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอต่อรัฐบาลและกองทัพ รวมถึงบทบาท ศอฉ. ในการสลายการชุมนุมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

โดยมีประเด็นเรื่องการคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต ในคดีก่อการร้าย และข้อเสนออื่นๆ ต่อรัฐบาลในการยกเลิก พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ บทบาทของ ศอฉ. ในการใช้อำนาจตาม พรก. เพื่อรวบอำนาจและจัดโผทหารของตนเอง ฯลฯ

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และญาติวีรชนพฤษภา’35 เป็นผู้นำแถลงข่าวเรียกร้องรัฐบาลและกองทัพ กรณีการแก้ปัญหาปรองดอง และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาดังต่อไปนี้



แถลงการณ์คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35
เรื่อง ขอความเป็นธรรมคืนให้กับผู้เสียชีวิต
ให้แก้ไขวิกฤติความแตกแยกด้วยเมตตาธรรม และการอโหสิกรรม

นับเป็นเวลา 18 ปี จากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียทางสังคมเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 จากการต่อสู้และขับไล่เผด็จการทหารของคนทั้งประเทศ และได้สร้างบรรทัดฐานทางสังคมการเมืองขึ้น โดยนำทหารกลับกรมกองเพื่อเป็นทหารอาชีพโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองซึ่งเป็น กิจการของฝ่ายพลเรือน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของบ้านเมืองยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง ปัญหาความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังเป็นใจกลางของวิกฤติที่หนัก ที่สุดของสังคมไทย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ดังปรากฏการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน อันจะนำไปสู่การสร้างความปรองดองและสามัคคีของคนในชาติ

โดยเฉพาะ การแก้วิกฤติที่เลวร้ายที่สุดเพื่อนำชาติกลับสู่ความสงบสันติโดยเร็ว ต่อกรณีการสูญเสียของประชาชนจำนวนมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะทหาร อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีหน้าที่ปกป้องประเทศ ซึ่งได้รับความบาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์วิกฤติกลางเมือง คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 เข้าใจความรู้สึกของการสูญเสียอย่างลึกซึ้ง แม้ว่าบางส่วนจะมีการประกอบพิธีศพ ได้รับการเชิดชูเกียรติตามความเชื่อของแต่ละศาสนาอย่างสมเกียรติชายชาติทหาร แต่ความเจ็บปวดจะติดตรึงตราบนานเท่านาน

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและกองทัพ รวมถึงศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อให้มีการแก้ไขวิกฤติดังกล่าวอย่างเป็นธรรม เพื่อเยียวยาบาดแผลของสังคมที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในที่ผ่านมา ดังนี้

1. ขอให้ยกเลิกพระราชกำหนดในการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในทันที เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และส่งผลถึงความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลและกองทัพซึ่งใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งทำให้บาดแผลและรอยร้าวของสังคมไทยขยายออกไปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่า การใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ที่อ้างสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งได้ส่งคนลงพื้นที่และใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก มีการคุกคาม ข่มขู่ ละเมิด สิทธิมนุษยชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ โดยที่ยังมีกฎหมายไทยอีกหลายฉบับที่ใช้บริหารประเทศได้ดีอยู่แล้ว เป็นที่ยอมรับต่ออารยประเทศ อีกทั้งยังไม่ถูกตำหนิจากประชาคมโลกด้วย และการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยใช้อำนาจตาม พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ อย่างยาวนาน จะทำให้กองทัพเสพติดอำนาจและมีบทบาทที่ก้าวก่ายการเมืองซึ่งเป็นกิจการของ พลเรือนมากขึ้น จนถึงสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ นอกจากนี้ การใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในกรณีนี้ จะต้องได้รับการเปิดเผยหรือตรวจสอบจากสังคมด้วย

2. กรณีผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยใช้สถานการณ์และกฎหมายดังกล่าว การปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นซึ่งเป็นข่าวปรากฏต่อสื่อมวลชลทั้งในและต่าง ประเทศ ว่าขาดหลักมนุษยธรรม จึงขอให้รัฐบาลและกองทัพ รวมถึงศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นบนพื้นฐานแห่งหลักสิทธิมนุษยชนสากล ยกเลิกลัทธิทรมาน ทรกรรม แก้แค้น พยาบาท จองเวรกัน ซึ่งจะไม่มีการจบสิ้น อย่าลืมว่าวันนี้ท่านเป็นผู้ล่า แต่วันหน้าท่านอาจเป็นผู้หนี ดังนั้น ควรยึดหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา คือ การให้อภัย อโหสิกรรม เป็นหนทางแก้ไขปัญหา การปรองดองสมานฉันท์ก็จะได้เกิดขึ้นได้จริง

3. กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ขอให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ยกเลิกการกล่าวหาว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้าย โดยยึดหลักเมตตาธรรมแห่งพระพุทธศาสนา และเป็นหลักที่คนไทยยึดถือและตกทอดมาเป็นจิตวิญญาณของคนไทย จึงขอให้แก้ไข เยียวยา และคืนเกียรติยศและศักดิ์ศรีแก่คนที่เสียชีวิตเหล่านั้นโดยเร็ว ถึงแม้ว่าจะมีการใช้เหตุผลต่างๆ มาอธิบายเพื่อความชอบธรรมให้ตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของคนจำนวนมาก ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐ รัฐและผู้ใช้อำนาจนั้นมิอาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ หากรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องและเที่ยงธรรม ข้อเรียกร้องเหล่านี้จะถูกยกมาในรัฐบาลต่อๆ ไปอย่างไม่รู้จบ

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 เห็นว่า วิกฤติของประเทศต้องปฏิรูปด้วยการใช้เมตตาธรรม และการอโหสิกรรมเท่านั้น เพราะผู้เสียชีวิตเหล่านั้น ไม่ว่าทางกฎหมายอาญาใดๆ ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อได้เสียชีวิตไปแล้ว และโดยประเพณี วัฒนธรรม ตามหลักพุทธศาสนาของสังคมไทยที่ถือปฏิบัติ ย่อมมีแต่ความเมตตา และการอภัยให้กันและกันเท่านั้น จึงจะสร้างสันติสุขให้กับสังคมได้อยู่ร่วมกันต่อไป ดังนั้น บุคคลที่สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านั้น จึงควรได้รับเมตตาธรรม และการอโหสิกรรม ไม่ใช่การกล่าวหาผู้ตายว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และจะต้องได้รับการเชิดชูยอมรับโดยรัฐบาล ในฐานะประชาชนของประเทศ

5 สิงหาคม 2553
ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน